บันทึกงานอนุรักษ์ThaiDive.Org


การสำรวจสภาพแวดล้อมใต้ทะเลเบื้องต้น ณ หมู่เกาะสิมิลัน

การปฏิบัติภารกิจของคณะในครั้งนี้ไม่แน่ใจว่าจะจัดเป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมใต้ทะเลภายหลังจากการเกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติ “TSUNAMI” หรือไม่ เนื่องจากภายหลังเหตุการณ์นี้สงบลง ได้มีหน่วยงานหลายแขนงเข้ามามีบทบาทด้านการสำรวจ , การประเมินผล และการรายงานผล ทั้งผลกระทบทางด้านธรรมชาติ , เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตามข้อมูลที่สามารถพบได้ในสื่อต่าง ๆ มากมาย สำหรับเป้าหมายหลักของการเดินทางครั้งนี้ส่วนหนึ่งแล้วอาจเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำ ให้สามารถประกอบธุรกิจนี้ได้ แต่ใช่เพียงเหตุผลนั้นอย่างเดียวคณะของเราจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการสำรวจพื้นที่ สภาพแวดล้อม บนบก-ใต้น้ำ บรรยากาศโดยรวมและทุ่นผูกเรือที่เคยไปผูกไว้ ตามเกาะต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่ เกาะสิมิลัน

ออกเดินทางจากท่าเรือทับละมุ จ.พังงา วันที่ 28 มกราคม 2548 โดยเรือ “ ฟ้าใส ” นักดำที่ร่วมเดินทางไปคราวนี้ร่วม 20 ชีวิต แบ่งเป็นหลายกลุ่ม แต่เหล่า นพอ. ร่วมเดินทางไป 8 คน

Dive 1 : Similan Island KOH 9 ด้านทิศตะวันออก เรียกว่า “Breakfast Bend” หรือที่เรียกว่า “Monkey Face” ภาษาไทย เรียกว่า “ หน้าลิง ” ที่เรียกเช่นนั้น เนื่องจากบริเวณหัวเกาะจะมีโขดหินใหญ ่ที่มีลักษณะเหมือนหน้าลิงเห็นได้เด่นชัด สภาพอากาศวันนี้ฟ้าเปิด แสงแดดจ้าส่องกระทบกับพื้นทะเล ทำให้เห็นน้ำทะเลเป็นน้ำเงินและสีฟ้าครามสลับกันไปตามความลึกของท้องทะเล เมื่อยืนอยู่บนเรือและมองลงไปที่พื้นทะเลสามารถมองเห็นพื้นทรายสีขาวนวล กอปรกับฝูงปลาน้อยใหญ่ที่กำลังแหวกว่ายทวนกระแสน้ำอยู่ใต้น้ำ บริเวณจุดที่จอดเรือมีความลึกราว 15-20 เมตร

 


เรือฟ้าใสทำการปล่อยนักดำเป็นกลุ่มลงบริเวณหน้าเกาะด้านทิศตะวันออก และต้องแล่นเรือออกจากบริเวณเกาะเพื่อลอยลำอยู่กลางทะเล แต่ที่สำคัญพวกเราสังเกตว่าบริเวณนี้ไม่มีทุ่นที่เหล่า นพอ. เคยมาวางไว้อยู่เลยแม้แต่ทุ่นเดียว บรรยากาศโดยรอบเกาะเงียบเหงามาก ซึ่งไม่คิดเลยว่ามหันตภัยร้ายครั้งนี้จะทำให้ไม่มีเรือลำไหนออกมาสู่หมู่เกาะที่เลื่องชื่อนี้เลย ทุก ๆ ปี ในเวลาเดียวกันนี้จะเป็นช่วงเทศกาลของการดำน้ำแบบ scuba แต่คราวนี้กลับเงียบเหงาไร้ผู้คน

เมื่อกลุ่มนักดำพร้อมก็เตรียมตัวลงดำโดยเราจะทำการดำแบบ one way แล้วให้เรือไปรับ เพียงแต่เมื่อก้มหน้าแตะที่ผิวน้ำ สิ่งที่สัมผัสได้จากสายตาทั้งสองข้าง ที่มองผ่านเลนส์ของหน้ากากดำน้ำก็ทำให้รู้สึกว่า ท้องทะเลช่างใสมากกราวกับดำน้ำในตู้ปลา ระยะการมองเห็นสามารถมองได้ไกลร่วม 30 เมตร เมื่อแสงแดดสาดส่องลงมาใต้น้ำ จนสามารถมองเห็นลำแสงเป็นเส้นผ่านชั้นน้ำกระทบกับกองหินและแนวปะการัง

พื้นที่บริเวณนี้จะเป็น slope ลาดชันลงมาจากเกาะ เมื่อทำการดำไปก็สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า บริเวณจุดดำแห่งนี้ คงจะได้รับผลกระทบของคลื่นยักษ์ไม่มากนัก เพียงแต่ก็มีปะการังเขากวาง ( Staghorn coral) บางจุดที่หักล้มลงจมกับกองทราย แต่ยังเห็นฝูงปลาตัว เล็ก ๆ มาอาศัยอยู่ตามปะการังเหล่านั้น ฝูงปลาน้อยใหญ่ว่ายกันเป็นฝูง อย่างปลาผีเสื้อคอขาวที่มาเป็นฝูงว่ายรวมกันที่ปะการัง

ปลาการ์ตูนลายปล้อง
( Clark's Anemonefish )

 

ปลาผีเสื้อคอขาว
( White-collared Butterflyfish)

Dive 2 : NORTH POINT เป็นจุดที่มีกองหินหัวโล้นสวยงามที่กองรวมกันประมาณ 4-6 ก้อน พิงกันอยู่ กองหินบางก้อนสามารถลอดผ่านไปได้ บริเวณจึงไม่ค่อยเห็นสภาพความเสียหายเลยแต่ที่สำคัญพวกเราคิดว่าจะไม่ได้เจอสัตว์ใหญ่ ๆ นอกจากปลาสวยงามที่เห็นจนชินตา พวกเราพบ “ ฉลามกบ ” Leopad Shark ที่ความลึก 34 เมตร นอนราบกับพื้นหิน

  

  

สามารถพบความสวยงามของกลุ่มปะการังอ่อนหลากสีที่ปลิวไสวตามกระแสน้ำ

ลักษณะของหินที่พิงกันจนสามารถลอดผ่านได้

นักดำกำลังเก็บภาพฉลามกบที่นอนนิ่งที่พื้นทราย

 

Dive 3 : Three Tree ที่เรียกเช่นนี้เนื่องจาก ถ้าสังเกตบนเกาะจะมีสัญลักษณ์เป็นต้นไม้เพียง 3 ต้นที่ตั้งตระหง่านอยู่ ดังนั้นที่นี่จึงเป็นจุดดำน้ำที่นิยมมาก วันนี้กระแสน้ำแรงมากซึ่งเมื่อลงดำแล้วไม่จำเป็นต้องโบกฟินให้เสียเวลา เหมือนกับขณะนั้นฝูงปลาน้อยใหญ่กำลังว่ายผ่านไปเอง บริเวณนี้เป็น slope ลาดจากแนวเขาถ้าเป็นกลุ่มปะการังที่อยู่ที่ความลึกประมาณ 10 เมตร อาจจะมีผลกระทบบ้าง ปะการังบางกลุ่มก็ลื่นไถลลงมากองที่พื้น บางกลุ่มก็พลิกล้มมารวมกัน แต่สภาพโดยรวมยังไม่เป็นที่น่าวิตก

ที่นี่เราพบปลาขนาดเล็ก “ ปลาเหยี่ยวปากยาว ” (Long-nosed Hawkfish) ที่หลบซ่อนอยู่ในกลุ่มกัลปังหาสีแดง

บริเวณนี้นำจะแรงมากจนทำให้พวกเราต้องหลบกระแสน้ำตามโขดปะการัง ฝูงปลาต่างว่ายทวนกระแสน้ำ เมื่อพวกเราปล่อยตัวให้ลอยไปตามกระแสน้ำ จนหลุดหัวเกาะไปถึงบริเวณที่เรียกว่า “Snapper alley” พบว่าบริเวณนี้ปะการังจะหักและพังทลายเป็นบริเวณกว้าง อาจเนื่องจากมีความลึกไม่มากนักประมาณ 7-9 เมตร อีกทั้งเป็นบริเวณหัวเกาะจึงทำให้เกิดความเสียหายมากพอสมควร

 


Dive 4 : Elephant Head Rock , Dive 5 : Deep six

แหล่งดำน้ำทั้ง 2 ที่นี้มีลักษณะเป็นโขดหินใหญ่ที่อยู่ใต้น้ำและมีระดับความลึกตั้งแต่ 25 เมตร ขึ้นไป ดังนั้นพวกเราก็คาดหวังว่าบริเวณนี้คงไม่น่าจะเกิดความเสียหายอะไรมากนัก น้ำใสมากจนทำให้พวกเราลืมที่จะดู pressure gauge ว่าตอนนี้อยู่ที่ความลึกเท่าไร เพราะลองแหงนมองขึ้นไปที่ผิวน้ำก็ยังคงเห็นแสงแดดส่องลงมาได้ แต่บริเวณที่พวกเราสำรวจก็อยู่ที่ความลึกถึง 28 เมตร

ความเสียหายจะไม่พบในบริเวณนี้ เนื่องจากเป็นหินขนาดใหญ่

ปะการังแข็งจะไม่ค่อยพบ แต่สามารถพบปะการังอ่อนที่ขึ้นอยู่ตามโขดหินได้มากมาย


  

Dive 6 : East of eden

พื้นที่เป็น slope และมีกลุ่มหินปะการังตั้งสลับกับพื้นทราย กระแสน้ำแรงมากจนทำให้นักดำตัวปลิวไปคนละทิศละทาง จึงต้องอาศัยการดำต่ำ ๆ และหลบตามโขดหิน สภาพโดยรวมไม่พบความเสียหายเป็นจุดใหญ่ ๆ จะมีเพียงปะการังแข็งที่พลิกคว่ำบ้าง

แต่เมื่อทำการดำไปเรื่อย ๆ ได้พบกับกัลปังขนาดใหญ่ล้มอยู่ที่พื้นทราย จึงพยายามช่วยกันพลิกให้สามารถตั้งได้ แต่ด้วยกระแสน้ำที่แรง ทำคนเดียวคงไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้ตากล้องมาช่วยอีกแรง

ขนาดของกัลปังหามีขนาดใหญ่ประมาณ 130 ซม. ซึ่งเปรียบเทียบกับความสูงของนักดำน้ำ จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้คนเดียว


Dive 7 : Garden eel

สภาพของพื้นที่เป็นทรายสีขาวนวล เป็น slope ลาดไป สำหรับวันนี้ลงดำที่นี่เป็นเวลาประมาณ 5 โมงเย็น จึงทำให้สภาพใต้น้ำมืดครึ้มบ้าง แต่ก็ยังมีแสงแดดสาดส่องลงมาถึงพื้นทรายได้

เมื่อมาถึงที่นี่ก็จะต้องพบกับปลาไหลตัวเล็ก ๆ ที่โผล่หัวพ้นพื้นทราย และโบกตัวเองไปตามกระแสน้ำเป็นจำนวนมาก ยังสามารถพบฝูงปลาจำนวนมาก ที่ว่ายผ่านมาสะท้อนกับแฟลตของกล้องใต้น้ำเห็นได้ชัด

แสงแดดยามเย็นที่ส่องกระทบโขดหินใต้น้ำเปล่งเป็นประกายสาดส่อง พร้อมกับการ ทำ safety stop ก่อนขึ้นสู่ผิวน้ำ บริเวณนี้จะไม่ค่อยพบปะการังแต่จะเป็นพื้นทรายละเอียดสีขาว


  

Dive 7 & 8 : Shark Fin Reef

บริเวณนี้มีลักษณะเป็นหินที่โผล่พ้นผิวหน้า ถ้าเวลาดำใต้น้ำแล้ว สังเกตหินจะเหมือนกับครีบของฉลาม โดยส่วนใหญ่จะเป็นสวนหินที่มีหินขนาดใหญ ่ตั้งอยู่ใต้น้ำเหมือนสันเขื่อน และมีหินขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านบนเล่นระดับความลึกแตกต่างกัน ซึ่งจะมีความลึกตั้งแต่ 20-30 เมตร ยังสามารถพบกัลปังหาขนาดใหญ่ และปะการังแข็งตามโขดหิน

พื้นที่อาจจะยังไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่มีบางส่วนที่มีปะการังหักหรือโดนทำลาย ซึ่งดูจากสภาพแล้วไม่น่าจะเกิดจากคลื่นยักษ์ครั้งนี้ อาจจะเกิดการเสียหายมานานแล้ว บริเวณนี้สามารถพบปลาหลากหลายชนิดมากมาย

สภาพโดยรวมของธรรมชาติใต้น้ำไม่น่าจะประสบปัญหาอะไรมากนัก คงจะมีเพียงกลุ่มปะการังที่เกิดหักล้มจากกระแสคลื่นใต้น้ำจนทำให้พังลงมา กัลปังหาขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนใบพัดบางครั้งอาจจะต้านแรงคลื่นไม่ได้จะหักล้มได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะฟื้นฟูกลับมาคืนสู่ธรรมชาติได้เช่นกัน

แต่ที่สำคัญ ณ ตอนนี้ บรรยากาศโดยรวมของการท่องเที่ยวดูช่างเงียบเหงา มีเพียงเรือไม่กี่ลำเท่านั้นที่ออกทะเลเพื่อมาท่องเที่ยวกัน ซึ่งแท้จริงแล้วธรรมชาติตอนนี้ถ้าเปรียบกับเมื่อก่อนอาจพูดได้ว่าไม่ได้แตกต่าง กันแต่อาจจะสวยและดีกว่าด้วยซ้ำ เพียงแต่ความเสียหายที่เห็นชัดเจนจะเป็นบนเกาะต่าง ๆ ที่น้ำทะเลซัดขึ้นชายหาดทำให้ต้นไม้หักล้มตายลง แหล่งน้ำจืดโดนน้ำทะเลเข้าแทนที่ สิ่งเหล่านี้น่าจะถูกฟื้นฟูขึ้นในไม่ช้า

ถ้าพวกเราไม่ช่วยกันธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็คงไม่กลับคืนดังเดิม..

 

0749 บันทึก
0121 ถ่ายภาพ

 

:: ThaiDive.Org ::

ThaiDive.Org © all rights reserved