บันทึกงานอนุรักษ์ThaiDive.Org


การสำรวจแนวปะการังบริเวณเขาหน้ายักษ์

หลังจากมหันตภัยร้ายเหตุการณ์ “TSUNAMI” ผ่านพ้นไป เขาหน้ายักษ์เป็นบริเวณหนึ่งที่ได้รับความเสียหายไม่น้อยไปกว่าแห่งอื่น เช่น บ้านปะการัง , เกาะพีพี หรือ เขาหลัก เป็นต้น

เขาหน้ายักษ์เป็นภูเขาที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเทียบเรือโดยสารทับละมุ จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกของศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ 36 สถาบันวิจัย จุฬาภรณ์ และเป็นรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้มีแหล่งดำน้ำตื้น ( Skin Diving) อยู่บริเวณทิศเหนือของเกาะ

  


ในช่วงเวลาต้นเดือนเมษายนของทุกปี แหล่งดำน้ำตื้นนี้ ถูกใช้ให้เป็นสถานที่สำหรับพาเยาวชนในพื้นที่ เข้ามาร่วมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทะเลของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มาฝึกการดำผิวน้ำ สามารถให้เด็กนักเรียนใช้อุปกรณ์และชมทัศนียภาพใต้น้ำได้ เพราะบริเวณนี้มีแนวปะการังทอดตัวจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกของภูเขา มีระดับความลึกไม่มาก ระยะทางไม่ไกล ระบบนิเวศทางทะเลครบสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปะการังหลายหลายชนิด สัตว์น้ำน้อยใหญ่

  

จากเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นจึงทำให้ปี 2548 ทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนขึ้น ดังนั้นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์จึงได้มีแนวความคิดในการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อทราบถึงความเสียหายภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร และสามารถฟื้นฟูให้เป็นแหล่งของการดำน้ำตื้นได้หรือไม่

เป็นที่แน่นอนว่า บริเวณนี้ต้องเป็นสถานที่หนึ่ง ที่ได้รับความเสียหาย เพราะอยู่บริเวณปากทางที่เรือจากท่าเทียบเรือทับละมุ จะออกเดินทางไปทำประมง หรือเดินทางเพื่อไปดำน้ำ โดยมีการวางแผนการสำรวจ พร้อมมีการเก็บภาพใต้น้ำไว้เพื่อทำการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

การวางแผนการสำรวจ การวางแผนการสำรวจ

การปฏิบัติภารกิจมีขึ้นในช่วง 13.00 น . ของวันที่ 13 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำกำลังขึ้น กระแสน้ำจะพัดจากทิศตะวันตกไปตะวันออก จึงต้องทำการปล่อยนักดำบริเวณด้านทิศตะวันตก ทำการสำรวจลงมาเรื่อย ๆ เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร

ให้นักดำกลุ่มแรกลงไปกำหนดจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติงานและวางเส้นใต้น้ำ ( Line) เพื่อบอกระยะทางใต้น้ำพร้อมผูกทุ่นบอกเป็นระยะ

  

นักดำกลุ่มที่สองทำการลงเพื่อเก็บภาพแนวปะการัง ทัศนียภาพใต้น้ำ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสุดท้าย เพื่อนำมาประเมินความเสียหาย และศึกษาสภาพสิ่งมีชีวิตใต้น้ำที่เป็นอยู่

นักดำกลุ่มที่สามทำการดำผิวน้ำ เพื่อบอกตำแหน่งของแนวปะการัง และทำการวาดรูปในแต่ละช่วงระยะที่กำหนดให้สำรวจ

 

การปฏิบัติงาน

เมื่อนักดำกลุ่มแรกลงตามสายทุ่นที่เคยผูกไว้พบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นก้อนหินขนาดใหญ่วางเรียงกันเป็นกลุ่ม ประมาณ 4-6 ก้อนใหญ่ ที่ความลึกประมาณ 5-6 เมตร บริเวณนั้นพบสัตว์น้ำจำนวนมาก ฝูงปลาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีปริมาณมากเป็นร้อยตัว เพียงแต่ความสามารถในการมองเห็นของบริเวณนี้ ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเกินกว่าที่ช่างภาพจะทำการถ่ายภาพได้

หลังจากทำการผูกเชือก ( Line) นักดำก็เริ่มทำการดำจากทิศตะวันตกสู่ตะวันออก อ้อมหินก้อนใหญ่ไปแล้วทำการดึงสายเชือกให้ตึงเพื่อสามารถบอกระยะทางใต้น้ำได้ ขณะเดียวกันก็พยายามมองโดยรอบนอกจากบริเวณที่วางเชือกไว้ ว่ามีความเสียหายอะไรบ้าง

การสื่อสารใต้น้ำจะต้องทำการเขียนในแผ่นกระดาน ( Slate) ซึ่งเป็นการสื่อสารที่คิดว่าดีสุดและสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้

ทำการวางเชือกไปไกลประมาณ 30-40 เมตร จึงเห็นว่าเมื่อเลยบริเวณดังกล่าวแล้ว จะไม่สามารถพบแหล่งปะการังได้เลย ซึ่งได้ทำการปรึกษากับนักดำ และช่างภาพว่าควรทำอย่างไรจึงได้ตัดสินใจขึ้นสู่ผิวน้ำ เพื่อบอกให้นักดำอีกกลุ่มที่ทำหน้าที่ดำผิวน้ำ ทำการสำรวจจากแนวเส้นเชือกที่วางไว้ เข้าไปทางตัวเกาะอีกประมาณ 10-20 เมตร

    

ปรากฏว่าไม่พบแหล่งปะการังหรือก้อนหินขนาดใหญ่เหมือนกับจุดแรกที่พบ แต่พบเพียงซากปะการังที่หักทับถมกันเป็นบริเวณกว้าง และปะการังยังมีการปกคลุมของเศษดินจำนวนมาก

ทำการสำรวจเป็นบริเวณกว้างจึงสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าในกรณีที่เป็นโขดหินใหญ่จะไม่พบความเสียหายเลย แต่แนวปะการังเขากวาง หรือปะการังสมองเดิมนั้นถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% อีกทั้งปะการังเหล่านั้นยังถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น ขี้ดิน จำนวนมาก

  

ในขณะเดียวกันจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจนถึงวันนี้ล่วงเลยมาหลายเดือนซึ่งบางจุดของแหล่งสำรวจพบว่า ปะการังบางจุดกำลังมีการบำบัดและฟื้นฟูตัวของมันเอง สัตว์น้ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ฝูงปลามีความหลากหลาย เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ๆ และยังสามารถพบสิ่งมีชีวิตหลากหลายได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าความใสของน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับที่ผ่านมาคงจะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว

  

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการสำรวจคือเรื่องของกระแสคลื่นและลมที่พัดแรงจนทำให้การสำรวจเป็นไปได้ลำบากและยังไม่ทั่วถึงนัก แต่สามารถคาดการณ์ว่าบริเวณใกล้เคียงกันคงมีสภาพไม่ต่างไปจากบริเวณนี้


การสำรวจนี้สรุปได้ว่าถ้าจะมีการทำบริเวณเขาหน้ายักษ์ให้เป็นแหล่งของการดำผิวน้ำอีกครั้งจะต้องมีการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติใต้น้ำ เช่น มีการปลูกปะการัง เพื่อเป็นที่อาศัยของสัตว์และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งพวกเราหวังว่าจะได้กลับมาฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณนี้อีกครั้งในไม่ช้า

13 เม.ย. 2548   
g-golf   
 

 

:: ThaiDive.Org ::

ThaiDive.Org © all rights reserved