บันทึกงานอนุรักษ์ThaiDive.Org



การปฏิบัติภารกิจของนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ในเหตุการณ์ภาคใต้คลื่นยักษ์ “TSUNAMI”   
31 ธ.ค. 47 - 3 ม.ค. 48


	ในการรายงานการไปปฏิบัติภารกิจครั้งนี้เป็นการเขียนสรุปการไปทำงานให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ 
ในกลุ่มของนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ได้ทราบ ซึ่งทางผู้เขียนเองพยายามเก็บข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ 
ที่ได้ไปประสบพบเจอ และอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครที่ว่าโชคดีที่ได้มีส่วนร่วม และช่วยเหลือ
ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่พนักงานขับรถ คนทำศพ ผู้ให้ความรู้ ติดต่อประสานงานกับชาวบ้าน เป็นต้น

	ในการรายงานบางตอนอาจมีการเสนอแนวความคิดซึ่งเกิดจากการพูดคุยกันในกลุ่มของนักดำน้ำ 
ที่เป็นอาสาสมัครด้วยกัน บางครั้งรู้สึกเห็นใจกับผู้ที่เป็นอาสาสมัครที่เหนื่อยกับการไปช่วยเหลือ 
แต่กลับเจอสิ่งที่ไม่ประทับใจกลับมาหลาย ๆ ด้าน รู้แต่เพียงว่าพวกเราไปด้วยใจ 
ไม่เคยร้องขอหรือเรียกร้องสิ่งใดกับใครเลยใครให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งบางครั้งถ้าทำการเปรียบเทียบได้
พวกเราอาจจะไม่ได้สบายเหมือนกับอาสาสมัครคนอื่น ๆ ที่ทางหน่วยงานหรือผู้อนุเคราะห์
เข้ามาโอบอุ้มและให้การสนับสนุน แต่เราไปเพื่อช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่พวกเราจะทำได้..... 

รายชื่ออาสาสมัคร 
1. นายอำพันธุ์ รุ่นพระแสง (เบิร์ด) รุ่น 1 
2. ว่าที่เรือตรีเรืองฤทธิ์ ฤทธานันท์ รุ่น 1 
3. วัชรินทร์ แสวงการ (ไก่) รุ่น 1 
4. นายณัฐพล น้ำหอม (โป้ง) รุ่น3 
5. นายสัมภาษณ์ สกุลรัตนภูมิ (หน่อง) รุ่น 4 
6. นายศุภชัย รักวงษ์ฤทธิ์ (ตุ้ม) รุ่น 4 
7. น.ส.ปิยะมาศ ดำดัด (แก้ว) รุ่น 4 
8. นางนพวรรณ ทับมาโนช (นะ) รุ่น 4 
9.น.ส.จงจิต สันติวงศ์วาน (ไก่) รุ่น 6 
10. นายชัยณรงค์ มีกุล (กบ) รุ่น 7 
11. น.ส.สโรชา จิระวัฒนพงศ์ (กอล์ฟ) รุ่น 7 
12. น.ส.สงกรานต์ สำเภา (กานต์) รุ่น 7 
13. น.ส.ธนัชญ์ชล ฉายศิริพันธ์ (อ้อ) รุ่น 7 
14. นายปริญญา พ่วงทรัพย์ (โอ๋) รุ่น 8 
15. นายมานพ สีบุญเรือง (ต้อม) รุ่น 8 
16. น.ส.อรทัย ศิลป์ประกอบ (หน่อย) รุ่น 8 
17. น.ส.มนัญญา ทวีพรประเสริฐ (ก้อย) รุ่น 8 
18. จริยา จตุรจิทราพร (มอลลี่) รุ่น 9 
19. จุฑารัตน์ แสงกุล (อ้อม) รุ่น 9 
20. กัญญาภัค สำราญใจ (ตุ๊ก) รุ่น 9 
21. นิรมล เกษตรศิลป์ชัย (หนิง) รุ่น 9 
22. นายวรพจน์ อโณทัย (พจน์) 
23. น.ส.จันทราภรณ์ งามสอาด (อุ้ม) 
24. นายอธิ วงษ์เส็ง (อธิ) 

31 มกราคม 2547 
	วันแรกของการเดินทางทำการนัดสมาชิกกันที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เวลา 06.00 น. 
เพื่อที่จะเดินทางไปขึ้นเครื่องบิน C130 กันที่ บน.601 ณ กองทัพอากาศ 
วันนั้นสมาชิกของเราได้ทำการใส่เสื้อสีส้มเป็นเสื้อทีมเพื่อความสะดวกในการหากลุ่ม 
เมื่อพร้อมเราทำการออกเดินทางโดยรถตู้และรถกระบะที่ต้องแบกสัมภาระของส่วนตัวหรือของบริจาค 
แต่โชคดีที่มีรถกระบะในการขนถ่ายของ ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากน้องโอม (พี่ชายของน้องอ้อมรุ่น 9) 
ที่นำพาพวกเราไปส่งยังจุดหมาย 

	เมื่อคณะไปถึงต้องทำการลงชื่อยืนยันการขึ้นเครื่อง ส่วนอีกคณะทำการโหลดของลงที่โกดัง 
โดยสถานที่เก็บของก็เป็นโรงเก็บเครื่องบิน ที่เต็มไปด้วยของบริจาคจากประชาชนทั่วประเทศ 
สิ่งของมากมายท่วมหัวประมาณตึก 3 ชั้น และแล้วเวลาที่เราจะต้องเดินทางไปก็มาถึง เป็นเวลาประมาณ 9.00 น. 
การไปครั้งนี้ได้ร่วมกันเดินทางไปกับคณะอื่น ๆ มากมาย อาทิเช่น ทหารเรือ กลุ่มนักดำน้ำเอกชน 
หน่วยแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี นักบินทหารอากาศ ข้าราชการหลายเหล่า โดยจุดหมายคือท่าอากาศยานภูเก็ต 

	คณะของเราจะเป็นจุดเด่นมาก มองแล้วคล้ายนักดับเพลิงอาจจะเป็นเพราะสีเสื้อที่แสบทรวง 
แต่ก็สะดวกต่อการเรียกหาและการใช้งาน เพราะคณะของเรายังช่วยในการขนถ่ายสัมภาระ 
จากหน่วยงานอื่นขึ้นเครื่องด้วย และแล้วเครื่องก็ Take off การเดินทางใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง 
ก็สามารถเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต เป็นสนามบินที่ติดทะเล (หาดในยาง) 
สภาพในวันนั้นเป็นช่วงสายอากาศร้อนพอสมควร มีเครื่องบินมาจอดมากมายทั้งเครื่องบินพาณิชย์และเครื่องของทหาร 

	เมื่อคณะของเรารวมกลุ่มกันแล้วก็ได้รับแจ้งให้เดินทางต่อไปที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต 
โดยต้องเดินออกจากคลังสินค้าเพื่อมาที่อาคารอเนกประสงค์ของสนามบิน บริเวณนี้ถูกจัดให้เป็นบริเวณที่บำบัดกายภาพ
ให้กับผู้ประสบภัยที่รอเครื่องจะเดินทางกลับ ส่วนด้านหน้าจะเป็นกองอำนวยการถูกจัดเป็นจุดบริการ
เครื่องดื่มและอาหาร ให้กับอาสาสมัคร ผู้สบภัย นักข่าว และอื่น ๆ ที่เดินทางมาทำงาน เป็นที่น่าตกใจสำหรับผู้มาถึง
โดยเมื่อเดินลงจากอาคารอเนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ภาษาใด จะได้รับการต้อนรับแบบเหมือนจะถูกอุ้ม 
ตั้งแต่มีการแจกเครื่องรางเป็นพระคล้องคอ โดยคณะของเราต่างมีคำถามกันว่าทำไมต้องให้กันขนาดนี้หรือ 
แต่ที่สำคัญเราจะทำการเดินทางสู่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตและมีรถกระบะของอาสาสมัคร 
มาจอดข้างหน้าซึ่งการจัดการที่สนามบินจัดได้ว่าดีเยี่ยม ซึ่งเมื่อใครที่เดินทางมาถึง 
ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปที่ใดขอให้บอกเขาจะนำมาท่านไปถึงสถานที่ นั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว 
เพียงแต่เขาขอให้มีส่วนร่วมในการนำพาคณะไป 

	คณะของเราถูกแบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมที่ 1 เดินทางไปที่ท่าเรือทับละมุซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ 36 
ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก นท.นิพัฒน์ ในการเดินทางมารับ ส่วนอีกทีมได้ขึ้นรถกระบะเดินทางมุ่งสู่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต 
ในระหว่างการเดินทางได้ทำการพูดคุยกับขนขับรถ จึงได้ทราบว่า รถจะมีวิ่งตลอด 
ตั้งแต่ศาลากลาง-สนามบิน-เขาหลัก-ผ่านแหลมปะการัง-บ้านคึกคัก-บ้านน้ำเค็ม-เข้าสู่อำเภอตะกั่วป่า-วัดย่านยาว 
ถ้าอาสาสมัครต้องการจะเดินทางก็สามารถขึ้นรถดังกล่าวได้ทันที ซึ่งรถแต่ละคันจะทำการออกค่าน้ำมันเอง 
หรือไม่ก็เป็นรถของหน่วยงานที่แต่ละหน่วยงานได้ทำการสนับสนุน ภายในรถจะมีการฟังข่าวและติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาว่า
ณ สถานที่ใดเกิดอะไรและต้องการอะไรก็จะช่วยกันแจ้งไปยังสถานที่แต่ละแห่งซึ่งเห็นแล้วทุกคนช่วยกันอย่างดีเยี่ยม 

	คณะของเราถูกนำมาส่งที่ศาลากลางจังหวัดพักรับประทานอาหารกลางวันซึ่งเป็นข้าวกล่องที่มีการจัดหามาให้อย่างไม่ขาด 
น้ำดื่มไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำอัดลม นมหรือชากาแฟมีพร้อมสรรพ ในขณะเดียวกันคณะของเรา 
ก็ยังทำการติดต่อกับอีกกลุ่มที่เดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วย (มนุษย์กบ) ที่โรงพยาบาลและได้รับการแจ้งข้อมูลเป็นระยะ 
เพื่อไม่ให้ทั้ง 2 ทีมที่แยกจากกันนั้นขาดการติดต่อ เนื่องจากการติดต่อที่นี่จะลำบากมากบางครั้งได้บางครั้งก็ขาด 
แต่ก็ทราบว่าทุกคนปลอดภัยยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ละคนอาจจะจำกันไม่ได้เลยก็เป็นได้ 
บรรยากาศภายในศาลากลางจังหวัดดูคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นจุดประสานงานของจังหวัดภูเก็ต 
มีทั้งนักข่าวหลาย ๆ ประเทศที่ต่างก็มาหาข้อมูล หาข่าว หรือการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย 
บริเวณสถานที่จะมีการตั้งบอร์ดที่มีภาพของผู้เสียชีวิต มาติดไว้เพื่อให้ญาติมาแสดงตัว 
หรือไม่ก็มีญาตินำรูปมาติดไว้มาเป็นบุคคลที่สูญหาย เมื่อใครพบเห็นจะได้แจ้งต่อญาติได้ถูกต้อง 

	ทางคณะได้พบกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่มาตามหาพี่ชายเธอยืนอยู่หน้าบอร์ด 
เพื่อดูรูปภาพด้วยการพินิจพิจารณาว่ารูปใดบ้าง ที่คาดว่าจะเป็นรูปของคนในครอบครัวของเธอ 
แต่ที่เห็นภาพแต่ละภาพแทบจะไม่มีเค้าเดิมอยู่เลย ถ้าจะมีคงจะเป็นเสื้อผ้า รอยสักหรือเครื่องประดับ 
ซึ่งทางคณะรู้สึกเห็นใจกับพวกเขาเหล่านั้นมาก ก็ได้แต่พูดคุยและปลอบใจให้กับเขาเหล่านั้น 
แต่แล้วคณะของเราก็ได้รับการประสานให้เดินทางไปดูสถานที่ที่บ้านน้ำเค็ม 
เพื่อจะได้วางแผนการทำงานกันว่าพอจะมีอะไรที่พวกเราทำได้หรือไม่ โดยได้รับการสนับสนุนรถตู้ 1 คัน 
และรถกระบะของทีมงานช่อง 3 อีก 1 คัน (พี่เชียร) เพื่อเดินทางมุ่งสู่บ้านน้ำเค็ม 
แต่ในขณะเดินทางก็ต้องผ่านสถานที่สำคัญที่ได้เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ 

	ระหว่างทางตามวัดจะเห็นโรงศพตั้งเรียงราย ภาพบ้านเรือนที่โดนน้ำพัด ถนนเสียหาย 
ผู้คนกำลังปฏิบัติหน้าที่ทั้งขุดดิน หาศพ แม้กระทั่งแจกข้าวปลาอาหาร ผ้าเย็น ยาดม 
ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนมาก การกู้รถ ฝุ่นที่เกิดจากทรายที่มาทับถมก็มีมากจนต้องทำการฉีดน้ำรดที่ถนนกัน 
ระหว่างทางกลิ่นศพจะแรงมากและมีตลอดทาง การติดตั้งเสาไฟฟ้า  ซึ่งในช่วงนั้นยังเป็นช่วงที่อยู่ในภาวะ 
“น้ำไม่ไหล ไฟดับ โทรศัพท์เสีย” จนเหมือนกับสถานที่นั้น ๆ มีสภาพเหมือนป่าที่โดนเผาดูแล้วแห้งแล้ง 

	นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยเหลือในงานนี้ ทั้งการใช้พารามอเตอร์บินขึ้นสู่ฟ้า
ในการค้นหารถหรือศพผู้เสียชีวิต แต่ระยะทางที่เดินทางไปสู่บ้านน้ำเค็มนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร 
และตลอดระยะทางรถติดมาก ซึ่งอาจเกิดจากการชะลอตัวของรถยนต์ เพราะอาจมีรถบรรทุกในการขนสัมภาระ รถเครน ฯลฯ 

	ระหว่างทางพวกเราได้พูดคุยกับพี่เชียรนักข่าวที่ประจำอยู่ที่ภูเก็ตซึ่งเป็นคนในพื้นที่ 
พี่บอกกับพวกเราว่าที่นี่ลำบากมากภาพที่เห็นดูรู้สึกแย่ และพี่ก็เล่าประสบการณ์สด ๆ ร้อน ๆ ให้เราฟังว่า
ก่อนหน้าที่จะมาพอคณะของเราเค้าไปพาพวกมอร์แกนมาส่ง เพื่อตามหาญาติพี่น้องที่ตะกั่วป่าเช่นกัน 
การส่งภาษาและการสื่อสารลำบากมากซึ่งตอนแรกพี่เค้าก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นพวกมอร์แกน
คิดว่าเป็นคนไทยพูดภาษาบ้านเราอย่างมากก็ส่งสำเนียงใต้ แต่ที่ไหนได้พูดไม่ค่อยเข้าใจกว่าจะรู้ว่ามาจากไหนมาทำอะไร
ก็เล่นขับรถมาเกือบร้อยกิโลเมตร ชาวมอร์แกนบอกพี่เชียรว่าไม่รู้ว่าบ้านเค้าจะเหลืออยู่กี่คน เพียงแต่ได้ยินว่า
พบศพอยู่ที่นี่ก็อยากมาเห็นด้วยตา พี่เชียรก็ยินดีที่จะพาชาวมอร์แกนคนนี้มาถึงแม้ว่ากว่าจะพูดคุยกันรู้เรื่องจะเหนื่อยเหลือเกิน 

	รถของพี่เชียรและรถตู้อีกคันก็มาขับมาในหมู่บ้านน้ำเค็ม ซึ่งทางพี่เชียรก็ไม่ค่อยชำนาญทางเท่าไรนัก 
ตัวของผู้ขียนก็คอยบอกทาง เนื่องจากเคยมาที่นี่แล้วหลายครั้งแต่เมื่อรถเข้าสู่หมู่บ้านต้องตกใจมาก 
ภาพที่เห็นแตกต่างกับเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้เขียนได้มาที่นี่ไม่นาน ไม่มีบ้านเหลือให้เห็นเลย 
เรือประมงเกยทับบ้านเรือน สัตว์นานาชนิดเดินกันตามถนน ไม่ว่าจะเป็น หมู เป็ด ไก่ สุนัข ขนาดสุนัขพันธุ์ฝรั่งเนื้อตัวของมัน 
ไม่ต่างอะไรกับหมาที่ถูกทอดทิ้ง จุดหมายก็มาสิ้นสุดบึงน้ำนิ่งแห่งหนึ่งที่น้ำดำสนิท 
ว่างเปล่าไปด้วยผู้คนซึ่งเป็นสถานที่หลังร้าน ยิ้มยิ้ม ซึ่งเป็นร้านอาหารชื่อดังของบ้านน้ำเค็ม
แต่ ณ ปัจจุบันเหลือเพียงป้ายชื่อยิ้มยิ้มเท่านั้น 

	ณ บริเวณแห่งนี้เราพบกับผู้ใหญ่หลายท่านเมื่อได้พูดคุยกันจึงได้ทราบข้อมูลว่าจะให้พวกเราลงหาศพที่นี่ 
แต่ทางคณะพวกเราก็อธิบายพร้อมให้เหตุผลของการปฏิบัติงานว่า ไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นน้ำนิ่ง 
พื้นบ่อก็มีแต่ทรายและซากปรักหักพังเมื่อลงไป แทนที่จะได้หาศพอาจจะไปเป็นศพก็ได้
และคณะของเราก็ได้ทำการเก็บภาพไว้เพื่อนำกลับมาประชุมและพูดคุยกันอีกครั้ง 

	ที่นี่เราได้พบกับพี่อู๊ด (รุ่น 2) ที่มาทำงานเหมือนกัน พี่บอกกับเราว่าที่บึงแห่งนี้มีชาวฮ่องกง 
นำเครื่องมือเป็นกล้องส่องลงไปในน้ำ ก็พบว่าในบึงแห่งนี้มีรถจมอยู่เป็นจำนวนมาก 
พื้นก็เป็นทรายสูงมากและมีกิ่งไม้เศษขยะมากมายอันตรายมาก ซึ่งคณะของเราก็มีคำถามว่า 
เนื่องจากบริเวณนี้เป็นสถานที่ที่ขึ้นของเรือประมง แน่นอนที่จะต้องมีเรือประมงจมอยู่หลายลำ 
แต่ไม่ต้องการจะหากันหรือก็เลยเสนอกับพี่อู๊ดไป พี่ก็บอกเราว่ากำลังจะทำแต่คนทำไม่มี 
จึงได้รู้ว่ากลุ่มของพี่เค้ามีประมาณ 10 คน  ซึ่งมันไม่เพียงพอต่อการทำงานและที่สำคัญไม่มีอุปกรณ์
เนี่ยเป็นสิ่งสำคัญมาก 

	การทำงานมีการพูดคุยกันอย่างคร่าว ๆ ว่าจะทำการดำน้ำทะเลหน้าหมู่บ้านซึ่งน้ำใสดี 
ลงไปหาซากเรือประมงจมและทำการผูกทุ่นเพื่อบอกหมายให้คนที่ผิวน้ำทราบ หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของหน่วยอื่น
ที่จะทำการกู้ซากเรือเหล่านั้นขึ้นซึ่งถ้ากู้ซากเรือขึ้นมาได้ภายในเรือก็อาจจะพบศพชาวบ้านหรือลูกเรือก็ได้ 
แต่แล้วด้วยความเกรงใจของพวกเรากับพี่เชียร ที่จะต้องตีรถกลับไปรับคนที่ภูเก็ตเมื่อทราบว่าวันนี้คงไม่ได้ทำงานแน่ ๆ 
แต่ทางผู้ใหญ่ก็ยังสรุปอะไรกันไม่ได้ ผู้เขียนรู้สึกว่าคงจะแย่ถ้าเราจะยืนอยู่ที่นี่ก็พูดคุยแบบมัดมือชกว่า
ตกลงเมื่อเราไม่มีที่นอนก็ไปนอนที่ศูนย์อนุรักษ์แล้วกัน ซึ่งพวกเราก็ทราบดีว่า
น้ำไม่ไหล ไฟไม่มี แต่ทำไงได้จะให้เรานอนที่บ้านน้ำเค็มหรือไม่เป็นไรเดี่ยวพาไปอาบที่น้ำตกตรงปากทางเข้าทับละมุก็ได้ 

	ทางพี่เชียรเป็นคนดีมากต่อสู้ให้กับคณะของเราขนาดยอมผิดนัดกับนาย ไม่ไปรับและยอมไปส่งพวกเรา
โดยขับรถออกจากที่นั่นย้อนกลับมาส่งในฐานทัพ ตลอดระยะทางพี่เชียรรู้สึกทึ่งในน้ำใจของพวกเรา
ที่ไม่มีใครบ่นหรือว่าอะไรเลยที่ต้องมาเจอเหตุการณ์เหล่านี้เค้าให้มาตายชัด ๆ ทำได้ไงเนี่ยผมก็เลยเอาวะไหน ๆ ก็มาแล้ว 
และด้วยความที่พี่เค้าเป็นห่วง เพราะพระอาทิตย์ก็เริ่มลดลงสู่ขอบฟ้าภายในพื้นที่เริ่มมืดลงแล้ว พวกเราจะออกไปกันอย่างไร 
ของใช้กระเป๋าก็เยอะ ผู้เขียนไม่รอช้าไปเลยพี่กระโดดขึ้นรถด้วยความเร็วเพียงแต่ให้ป๋าจัดการคุยกับอีกกลุ่มแล้วกัน
เดี่ยวทางนี้เรื่องสัมภาระจะจัดการให้เอง เท่านั้นพี่ไปเลยช้าไม่ได้หรอกมืดแล้ว 

	ระหว่างการเดินทางมาสู่ทับละมุก็พูดคุยกันบนรถรู้สึกยังงง แต่ไม่เป็นไรกลับไปตั้งต้นกันก่อนแล้วค่อยว่ากันใหม่ 
แต่ไม่น่าเชื่อรถติดมาก เนื่องจากคนต่างพื้นที่อยากจะเห็นภาพการความเสียหายก็จอดรถถ่ายรูปกัน 
ซึ่งสร้างความลำบากต่อการเดินทางมากทำให้ผู้ทำงานบ่นกันเป็นการใหญ่ เมื่อเข้าสู่พื้นที่ระหว่างทางมืดมาก
จะเห็นเพียงแสงไฟของรถที่สาดส่องนำทางภายในศูนย์อนุรักษ์มืดสนิท แม้แต่ทหารเฝ้าประตูก็ยังมองไม่เห็น 
ตามบ้านพักที่นักเรียนอนุรักษ์เคยไปพักระหว่างการวางทุ่นนั้น ไม่มีแสงไฟจะเห็นแต่ก็เพียงแสงเทียนที่สว่างจากเทียนพรรษา 

	ทางคณะจัดแจงเก็บสัมภาระโดยได้รับการต้อนรับจาก ว่าที่เรือตรีสมพงษ์ (ครูตี๋) ครูเปี๊ยก สายัณห์ (เปี๊ยกเล็ก) 
พี่หนุ่ม พี่จักรเพชร ทุกคนต้อนรับพวกเรากลับมาบ้านเป็นอย่างดี นี่แหละในที่สุด 
จะมีที่ไหนต้อนรับพวกเราดีเท่ากับที่นี่ถึงแม้ว่าที่นี่จะไม่มีความสะดวกสบายให้กับเรา
แต่พวกเราก็พร้อมและเต็มใจที่จะอยู่ที่นี่ ภาพในคืนนั้นภายในพื้นที่พวกเรายังไม่เห็นอะไรนักเพราะมืดมาก 
ก็จัดแจงจัดสัมภาระขึ้นบ้านพัก  ซึ่งพี่จักรเพชรได้ให้ไปอาบน้ำที่บ้านขับรถไปที่บ้านแยกย้ายกันอาบน้ำกันกลางแจ้งนั่นแหละ 
หลังจากนั้นก็นัดประชุมกันที่บ้านพักเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจในวันรุ่งขึ้น ดังนี้ 

1. เก็บเศษขยะที่ไม่จำเป็นภายในศูนย์ฯ แล้วเผาทิ้ง 
2. ตามหาศพของลูกพี่พร (เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์) 
3. อื่น ๆ ตามแต่เหตุการณ์ 

	นัดเจอ 07.00 น.รับประทานอาหารเช้า และแล้วต่างแยกย้ายกันนอน คืนนี้เป็นคืนที่โชคดีที่ได้ไฟที่ปั่นจากเรือ
มาช่วยให้พวกเรามีไฟมองเห็นกัน เพียงแต่น้ำยังไม่มีใช้เท่านั้นเอง พวกเราได้ Count Down 
ท่ามกลางเทียนพรรษากันที่นี่ด้วย วันแรกนี้ก็เหนื่อยกับการเดินทางทุกคนต่างแยกย้ายกันพักผ่อน 

เพราะพรุ่งนี้จะต้องปฏิบัติภารกิจกันตั้งแต่เช้า 


1 มกราคม 2548 
	เช้าของปีใหม่เริ่มปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เช้าเพื่อรอรับประทานอาหารเช้าโดยต้องขับรถไปรับข้าวที่ ศอ.รฝ. 
ที่จะจัดทำอาหารให้เพียงแต่หาภาชนะไปใส่ อาหารโดยส่วนใหญ่จะเป็นกุ้ง ไก่ ผักจะหาน้อยมาก 
เนื่องจากได้รับการบริจาคจากซีพี สหฟาร์ม เซนทาโกรอาหารส่งออกที่ไม่เคยได้กินก็ได้กินกันคราวนี้แหละ 
เมื่อกองทัพอิ่มกันเรียบร้อยก็เริ่มปฏิบัติภารกิจกันทันทีตามเวลาที่กำหนด 

ภารกิจที่ 1 เก็บกวาดทำความสะอาดศูนย์ฯ (เก็บขยะเผา) 
	ตั้งแต่ล้างถังน้ำขนาดใหญ่หลายใบเพื่อรอรับการส่งน้ำจืดและน้ำเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญให้เราสามารถอาบน้ำ 
ล้างจาน ทำความสะอาดกัน หลายคนเก็บกวาดขยะภายในศูนย์ฯ ขยะนานาประการกองรวมกันทั้งเศษไม้ 
เศษขยะ เพื่อรอเผา ภาพที่เห็นทุกคนช่วยกันอย่างรวดเร็วเพื่อให้บ้านของเราเสร็จก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สะอาดสวย
แต่ก็ทำให้บ้านของเราสะอาดขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ส่วนที่เหลือก็ค่อยทยอยทำไปเรื่อย ๆ 
ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของช่วงเช้าจะทำการเก็บขยะโดยรอบเผาให้สิ้นซาก 

ภารกิจที่ 2 ตามหาศพ 
	ทำการแบ่งสมาชิกออกเป็น 4 กลุ่ม พื้นที่ในการหาบริเวณหลังบ้านพักของ ศอ.รฝ 
ซึ่งเป็นพื้นที่จากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ ว่าวันเกิดเหตุพวกเขาหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน
และเห็นเด็กลอยตามน้ำผ่านช่องของตัวบ้านทะลุไปทางด้านหลัง ซึ่งพวกเราก็คาดว่าน่าจะติด
อยู่ที่ป่าด้านหลังซึ่งเป็นต้นปาล์มที่หนามแหลมคม โคลนที่เมื่อลงไปแล้วจะจมถึงเอว 
ระยะทางในการหาประมาณ 100 เมตร อุปกรณ์ที่จัดเตรียมได้ก็มีมีดที่ต้องลับให้คมเพื่อถางป่าตรงนั้น 
เนื่องจากเมื่อวานกลุ่มของครูเปี๊ยก และพี่หนุ่มได้ทำการหากันแล้วบอกว่ายากลำบากมาก วันนี้ก็เลยทำการวางแผนกัน 

	การหาวันนี้ถึงแม้ไม่พบศพของลูกพี่พรแต่ถ้าเจอสิ่งอื่น ๆ ก็จะได้ช่วยเหลือได้ การป้องกันตัวเอง 
ก็ต้องเป็นการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมหมวก รองเท้าบูท ถุงมือ และแล้วก็พร้อมปฏิบัติการ
แต่ในขณะเดียวกันทางครวบครัวของพี่พร ที่มี (พี่เติ้ลสามีและลูกสาวที่เหลืออีก 2 คน) 
ก็เดินทางมาถึงและนำรูปภาพที่ได้มาจากโรงพยาบาลท้ายเหมือง ซึ่งเป็นรูปภาพของเด็กผู้หญิงในชุดสีส้มลายกระต่าย 
สภาพของน้องไม่น่าดูนักเพราะหลายวันแล้วลำตัวแข็ง ตาถลนออกมา 
ซึ่งทางครอบครัวพี่เค้าก็ไม่แน่ใจว่าใช่หรือเปล่าก็เลยแนะนำว่า น่าจะไปดูที่โรงพยาบาลว่าใช่หรือไม่ 
เช่นจำนวนฟัน ชุดที่ใส่ เพราะถ้ายืนยันว่าใช่ก็น่าจะนำศพมาบำเพ็ญกุศลทันที 
แต่ทางครอบครัวเหมือนยังไม่แน่ใจเท่าไรนักเพราะจากญาติที่บอกเล่านั้นชุดที่ใส่มันคนละชุดกัน 
ก็เลยถามครอบครัวว่าพี่มั่นใจกี่เปอร์เซ็นต์ว่าใช่น้อง พี่พรบอกว่าประมาณ 80% แต่ทางพี่พรก็ถามเรื่องการตรวจ DNA 
ก็เลยบอกว่าต้องใช้เวลาและอีกอย่างศพนี้หลายวันแล้วและก็ไม่ได้ฉีด Formaldehyde (ฟอร์มาลีน) 
แล้วศพตอนนี้อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้กว่าจะไปทำการตรวจใช้เวลามากเพราะต้องต่อคิวจากศพอื่น ๆ 
ก็เลยแนะนำว่าถ้าพี่แน่ใจไปดูศพหาลูกให้เจอก่อนว่าใช่แน่ ถ้าไม่ใช่ค่อยว่ากันอีกครั้ง 

	เพียงแค่นั้นปฏิบัติการหาก็ต้องหยุดไว้ก่อนเพียงแต่พี่ต้องไปเตรียมเอกสารยืนยันประวัติของลูกของพี่ 
แต่ก่อนอื่นเพื่อเป็นสิ่งที่ยืนยัน ก็น่าจะส่งรูปไปให้ญาติของพี่ที่เค้าเป็นคนดูแลน้องในวันเกิดเหตุดูว่าได้ใส่ชุดนี้หรือเปล่า 
สิ่งที่ทำได้ก็คือ พี่พรมีเพียงรูปสีที่ปริ้นมาจากโรงพยาบาลดังนั้นขั้นแรกผู้เขียนก็ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอล 
และ save ไฟล์เพื่อส่ง e-mail ไปให้ญาติดูเพื่อเป็นการยืนยัน นี่แหละเป็นการยากอีกประการที่ต้องหาร้าน internet 
แต่มีข่าวว่าที่วัดหลักแก่นหน้าทับละมุมี internet ให้บริการฟรี เมื่อเราได้รูปแล้วก็เดินทางไปวัดดังกล่าวทันที
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจะได้ทราบว่าใช่ลูกของพี่พรหรือไม่ 

	เมื่อไปถึงวัดก็ตกใจว่าที่โต๊ะอำนวยการมี Notebook ตั้งอยู่ข้าง ๆ เมรุโดยกำลังติดตั้ง internet อยู่ 
แต่ที่สำคัญพวกเค้าเหล่านั้นทำไม่เป็น ทางผู้เขียนก็ร้อนใจไม่แพ้กับแม่เด็ก 
เพราะพี่พรเริ่มหน้าเสียแล้วว่าเมื่อไรจะได้ส่ง internet ก็ต่อไม่ได้เสียที 
และแล้วผู้เขียนก็เริ่มเจรจาว่าเดี่ยวทำให้ไหมคะแต่ในใจเราจะส่งข้อมูลของเราก่อนนะแหละ 
เมื่อทางเจ้าหน้าที่หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกันให้ทำแค่นั้นแหละเสร็จเราเลยจัดแจงปฏิบัติภารกิจของเราก่อน 
ในขณะที่ทำการส่งไฟล์นั้นก็มีชาวบ้านกรูเข้ามาขอให้ช่วยดูข้อมูลเรื่องคนหาย 
ซึ่งชาวบ้านเหล่านั้นได้ทราบข่าวจากโทรทัศน์ว่า จะต้องดูข้อมูลเช็คเบอร์ของคนที่ตายได้จากทาง website 
ซึ่งชาวบ้านยังไม่ทราบเลยว่าชื่อของเวปนั้นชื่ออะไร เพียงแต่ชาวบ้านบอกว่าเค้าบอกมาอีกที 
อีกทั้งยังมีชาวต่างประเทศมาตามดูข้อมูลและรูป ก็ต้องอธิบายให้ฟังแต่ผู้เขียนก็ไม่ทราบข้อมูลอะไรมาก
ก็ให้ชาวบ้านบอกแล้วมาแปลเป็นภาษาอังกฤษให้อีกครั้ง 

	สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าที่นี่ก็ลำบากมากแต่ไม่มีใครหรือหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเลย 
หรือเป็นเพียงวัดที่คอยเก็บศพกันหรือไร เพราะศพก็วางเกลื่อน โรงศพก็มาก ชาวบ้านก็เยอะ 
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีตู้ container ในการบรรจุเลย อีกมุมหนึ่งของวัดก็กำลังจะเผาศพของผู้เสียชีวิต
แต่ด้วยความที่เผากันแถบไม่ทัน เมรุของวัดทำงานหนักมาก 
ควันไฟที่เผาศพลอยกลบพื้นที่ของวัดเหมือนหมอกลง แต่ด้วยวัดที่มีขนาดใหญ่แต่ต้องคับแคบไม่ถนัดตา 
แม้แต่ที่จอดรถยังต้องเป็นลานวางโลงศพ ทำให้ทุกพื้นที่ของวัดตอนนั้นเต็มไปด้วยสัมภาระ 
ในที่สุดก็ต้องขอตัวชาวบ้านว่าต้องไปทำอย่างอื่นก่อนแล้วก็ร้องเรียกเจ้าหน้าที่ให้มาเฝ้าอีกครั้ง 
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าเค้าไปไหนกันเนี่ยเป็นสิ่งหนึ่งที่พบมาเท่านั้นเองแต่ในใจก็อยากจะช่วยแต่เรายังมีภารกิจอีก 

	ผู้เขียนแยกย้ายกับครอบครัวพี่พรและให้พี่ดำเนินการนำศพ เพียงแต่ทางนี้จะ standby รอ 
ต้องคอยติดตามข่าวของครอบครัวนี้ให้ถึงที่สุด เพื่อเป้าหมายที่จะหาศพและนำศพไปบำเพ็ญกุศลให้ได้ 
ส่วนคณะอีกกลุ่มก็กลับมาปฏิบัติภารกิจทำความสะอาดศูนย์ฯ เพิ่มเติม 
และในช่วงบ่ายก็ได้ทำภารกิจร่วมกับพวกเรือหลวงกระบุรีในการหาของบริเวณเขาหลัก 
โดยได้มีการวางแผนรวมกันและแบ่งกลุ่มกันทำงาน 
ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ได้รับข้อมูลในการต้องไปจัดการเรื่องศพของลูกพี่พร 
และต้องเดินทางนำศพไปจังหวัดนครศรีธรรมราช (ปากพนัง) โดยต้องขับรถนำศพไปซึ่งได้รับการอนุญาต
จากหัวหน้าโครงการ (ครูเชาวลิต) ให้ช่วยครอบครัวนี้ให้ถึงที่สุด รู้แต่เพียงว่ารอแค่ครอบครัวของพี่พรทำเรื่องเอกสาร
และหาลูกให้เจอว่าอยู่ที่ใด และเภาวนาให้ใช่ศพของลูกพี่พรก็เพียงพอแล้ว
เรื่องนำศพก็เป็นอีกเรื่อง และแล้วผู้เขียนก็ต้องแยกจากคณะใหญ่โดยคณะใหญ่ 
ก็ต้องเดินทางไปเขาหลักเพื่อปฏิบัติภารกิจกัน 

	ผู้เขียนได้ติดต่อกับทางครอบครัวพี่พรอยู่ตลอดเวลาว่า เรื่องดำเนินถึงไหนกัน แต่ด้วยครอบครัวนี้เกรงใจ
ทางครูเชาวลิตแต่พวกเราเต็มใจช่วยเต็มที่ขนาดพวกเราทุกคนช่วยทำบุญในงานศพของลูกพี่พรเลย 
และในที่สุดก็ต้องบังคับและข่มขู่พี่พรเลยว่าพวกเราเต็มใจช่วยนะ พี่พรกำลังดำเนินเรื่องอยู่ซึ่งนานมาก
โดยตอนนั้นพี่พรก็บอกว่ายังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าจะใช่ลูกของเค้าหรือไม่ แต่จากการพูดคุยกันทางโทรศัพท์
ถามถึงสถานการณ์เพื่อที่จะเตรียมอุปกรณ์ในการขนย้ายศพ พี่พรเล่าว่า ได้ไปสถานีตำรวจ
และได้พบรูปหลังวันเกิดเหตุ (27 ธ.ค.2547) จึงทำให้มั่นใจว่ารูปนี่แหละเป็นลูกของเธอแน่นอน
(เป็นรูปเด็กหญิงนอนหลับธรรมดา) และก็เอารูปที่ไม่หลงเหลือสภาพแล้วมาเปรียบเทียบกัน 

	เมื่อทราบข่าวว่าใช่แน่ก็เลยบอกพี่พรว่าพี่รีบขับรถกลับจากท้ายเหมืองมาเลยมาเจอที่วัด 
แล้วค่อยมาหาว่าศพของน้องอยู่ตู้ไหน แต่ที่ทราบก่อนล่วงหน้าคือพี่เค้าไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย
และต้องทำการฝังศพภายในวันนี้ ซึ่งตอนแรกผู้เขียนงงเหมือนกันว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น 
เวลาก็กระชั้นเข้ามาพี่พรก็ยังเดินทางมาไม่ถึง เนื่องจากรถติดเป็นกิโลจากท้ายเหมืองจนพี่พรบอกว่าจะวิ่งมาอยู่แล้ว 
เพราะเวลาตอนนั้นใกล้จะ 5 โมงเย็น คนที่วัดหลักแก่นเริ่มซาลง ความวังเวงเริ่มมีขึ้นในที่สุดพี่พรก็เดินทางมาถึง 
สามีแกติดต่อกับตำรวจเรื่องเอกสารเพื่อบอกตู้ container ว่าศพอยู่ที่ใด 

	ก่อนจะปฏิบัติการก็มีนักข่าวจากประเทศชิลีมาสักถามพี่พร ใจความในการซักถามก็อธิบายว่า
ลูกพี่พรหายไปรวม 1 อาทิตย์ แต่ได้รูปที่ถ่ายภายหลังจากเสียชีวิตซึ่งไม่แน่ใจว่าใช่ลูกของแกหรือไม่ 
แต่บังเอิญไปพบรูปที่สถานีตำรวจ เป็นรูปที่ถ่ายหลังจากวันเกิดเหตุเพียง 1 วัน มายืนยันว่าเป็นศพนี้จริง ๆ 
แล้วก็บอกนักข่าวจะต้องไปประกอบพิธีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นักข่าวก็พูดปลอบใจครอบครัวของพี่พรให้เข้มแข็ง 
ทำใจให้สบาย เรื่องอย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่คาดฝัน ก็เลยบอกพี่พรไปแต่ก็ต้องหยุดการสัมภาษณ์ก่อนเพราะต้องจัดการศพ 
แต่ที่อึ้งก็คือเมื่อเปิดตู้เย็นมาแล้วโรงศพวางซ้อนกันไปหมด คราวนี้แหละต้องปีนหาโรงแล้วว่าโรงไหนซึ่งที่หน้าโรง 
จะมีรูปติดอยู่และมีหมายเลขบ่งบอกไว้ โชคดีที่มีครูเปี๊ยก (ศิริศักดิ์) และพี่หนุ่มไปช่วย
เพราะเมื่อลากโลงศพออกมาคราวนี้ครอบครัวพี่พรคงช๊อคทำอะไรไม่ถูก แต่ด้วยความที่พวกเราไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย
ก็มีแต่มีดและต้องทำให้ทันกับเวลา เพราะศพที่ออกมานี้ไม่ได้ทำการฉีดฟอร์มาลีน 

	ผู้เขียนไม่รอช้าให้พี่หนุ่มและเปี๊ยกเปิดฝาโรงเลยก็ใช้มีดนั่นแหละ พอเปิดออกก็เข้าใจในความรู้สึกของ
ผู้เป็นพ่อกับแม่เลยว่า ความเศร้าโศกจะมาในบัดดล ผู้เขียนอุ้มศพออกมาห่อด้วยผ้านวม 
แล้วยัดลงในพลาสติกขนาดใหญ่มัดปิดหัวท้ายเหมือนห่อลูกอม ที่สำคัญก็ไม่มีเชือกต้องใช้ผ้าเทปกาวพัน 
ในขณะที่ปฏิบัติงานก็คอยบอกน้องเค้าว่ากลับบ้านนะพี่มาช่วย 
ก็นำศพกลับเข้าโรงอีกครั้งแล้วปิดด้วยกระดาษกาวเหมือนเดิม ก็ที่วัดไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย 
หันมาอีกทีก็เห็นนักข่าวชิลีถ่ายภาพเก็บทุกขั้นตอนของการปฏิบัติภารกิจไว้ พอปิดฝาโรงเสร็จ
คราวนี้โรงเริ่มเกิดการกลั่นตัวหยดน้ำ น้ำเหลืองจากศพเริ่มไหลออกมาก็ให้ห่อโลงด้วยพลาสติกอีกรอบด้วยความรวดเร็ว 
ก็บอกให้พี่ขึ้นรถ ซึ่งเวลา ณ ตอนนั้น 18.00 น. จะไม่ทันการเพราะจะต้องทำพิธีฝังกันภายในคืนนี้
ดังนั้นเรามีเวลาเพียงสิ้นสุด 24.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2548 รู้แต่เพียงว่าขนโรงขึ้นรถขับรถให้เร็วเพื่อให้ทันเวลา 

	ในขณะเดินทางต้องข้ามจากฝั่งจังหวัดพังงา-มากระบี่-สุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช-ปากพนัง 
ตลอดเวลาเดินทางฝนตกหนักมากแต่คณะทางศูนย์อนุรักษ์ก็โทรศัพท์มาเช็คข่าวตลอดระยะทาง 
ภายในรถก็ได้สัมภาษณ์ลูกสาวของพี่พรว่าทำไมต้องฝังวันนี้ก็เลยทราบเหตุผลว่า เป็นธรรมเนียมว่าลูกคนสุดท้อง 
เมื่อเสียชีวิตจะไม่ทำการเผาและประกอบศาสนพิธีใด ๆ และต้องฝังอีกอย่างจะไม่มีการฝังในวันอาทิตย์ 
และเป็นการตายหมู่ถ้าไม่ทำเช่นนี้กลัวจะต้องเกิดการสูญเสียอีกเป็นแน่ แค่นั้นทำให้เราร้องอ๋อเลย 
แต่ก็นึกว่าดีแล้วที่ไม่ต้องไปตั้งศพเพราะไม่งั้นต้องหาลังแพคน้ำแข็งแห้งนำศพใส่ 
ซึ่งน้ำแข็งแห้งหายากมากแม้แต่ลังยังหายากเลย เนี่ยขนาดทำศพยังหาอุปกรณ์ใกล้ตัวที่สุดเลย 
พระภิกษุที่ทำการสวดก่อนจะนำศพออกจากวัดยังใช้น้ำโพลาลิสมาทำในพิธีเลย 

	ในที่สุดก็เดินทางมาถึงวันเวลา 23.00 น. ภายในวัดมีครอบครัวและญาติของพี่พรอยู่เพื่อรอศพ 
พอไปถึงก็บอกให้ยกโลงลงโดยเปี๊ยกและพี่หนุ่ม ไปยังป่าช้าหลังวัดที่ทำการขุดหลุมไว้แล้ว 
คราวนี้เสียงร้องไห้ระงม ก็นำโลงลงหลุมที่ขุดเสมอขอบโลงปิดฝาอีกรอบก่อนปิดของใส่ของเล่นของใช้
ที่น้องเค้าเคยเล่นและก็บอกน้องเค้าว่าพี่พามาส่งถึงที่แล้วนะ ตอนนี้พวกเรา 3 คนทั้งผู้เขียน ครูเปี๊ยก พี่หนุ่ม 
รู้สึกหมดภารกิจทันที ปูนเริ่มโบกปิดฝาโลงพิธีกรรมเริ่มขึ้นและเสร็จสิ้นตอนเที่ยงคืนพอดี 
ไม่น่าเชื่อว่าจะมาทัน หลังจากนั้นผู้เขียนกินข้าวที่บ้านของพี่พรไม่นานก็ขอตัวกลับเพราะเกรงใจ
ก็เลยขับรถกลับทับละมุทันที ถึงประมาณ 4.30 น.ของวันที่ 2 มกราคม 2548 เสร็จไปอีกภารกิจ 

2 มกราคม 2548 
	วันนี้เป็นอีกวันที่ต้องปฏิบัติงานกันซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จะทำความสะอาดศูนย์ฯ 
บริเวณอาคารใหญ่ที่ติดกับท่าเรือ กลุ่มที่ 2 นำของไปบริจาคที่บ้านคอเขาด้วยเรือหลวงริ้น 
โดยกลุ่มที่ 1 ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเก็บกวาดทำความสะอาดภายในศูนย์ฯ บริเวณอาคารใหญ่ 
ซึ่งด้านหลังของอาคารบริเวณที่เคยมีกำแพงก็หายไปกับสายน้ำและในปัจจุบันก็มีกองขยะ 
เศษไม้มาทับถมเต็มไปหมด ด้านหลังของศูนย์ที่บริเวณติดกับท่าเรือจะมีกลิ่นเหม็นเน่า 

	พวกเราเก็บกวาดเศษไม้นำมาเผา กวาดเศษดินและทรายที่ทับถมให้ลดลง อย่างน้อยบริเวณดังกล่าวก็ดูสะอาดตา
 และจัดแจงเรื่องอุปกรณ์สำนักงานคอมพิวเตอร์นำมาตรวจเช็คว่ามีอะไรเสียหายบ้าง 
ในวันนี้ถือได้ว่าเป็นวันพักผ่อนของพวกเราที่ตอนเย็นจะนำกับข้าวไปกินกันที่น้ำตกและอาบน้ำกันที่นั่น 
แต่แล้วก็มีข่าวมาบอกว่าที่วัดย่านยาว (ตะกั่วป่า) ต้องการกำลังในการขนศพ 
ดังนั้นเมื่อเราอาบน้ำเสร็จก็จัดแจงแต่งกายให้รัดกุมและขับรถจากทับละมุไปยังวัดดังกล่าวที่อำเภอตะกั่วป่า

	เมื่อถึงวัดดูแล้วแปลกตามากมีความแตกต่างจากวัดที่เห็นที่ทับละมุ วัดนี้นี่เองที่ลงข่าวและเป็นที่ตั้ง
ของกลุ่มทำงานเกี่ยวกับชันสูตรศพ เมื่อเราเข้าไปถึงก็ทราบว่างานได้หมดลงแล้ว แต่บรรยากาศแปลก ๆ 
พวกเขาเหล่านั้นมองพวกเราประหลาดซึ่งเราทุกคน ก็เห็นเป็นเช่นนั้นแต่อย่างไรพวกเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
เมื่อมีคนต้องการความช่วยเหลือในการขนของสัมภาระ เช่น ผ้าห่อศพ เป็นต้น 
พวกเราก็กระวีกระวาดในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ 

	เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่นี่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายอย่างมากมายถ้าเปรียบเทียบกับวัดอื่น ๆ 
อาสาสมัครที่จะช่วยเหมือนมารวมตัวกันที่นี่ ซึ่งพวกเรายังนึกอยู่เลยว่าทำไมไม่กระจายคนที่มีความรู้ความสามารถ
ไปทำงานตามจุดต่าง ๆ ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับศพ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับการขนส่งศพมาที่นี่
กับการเดินทางอาสาสมัครที่มีความสามารถไปมันต่างกันมากมาย 
เพียงอาสาสมัครพวกนั้นกล้ากันหรือไม่ที่จะไปปฏิบัติงานที่อื่น จากระยะทางภูเก็ต-ทับละมุ-ตะกั่วป่า 
กลับกลายเป็นว่าทุกคนจะต้องมุ่งมาที่ตะกั่วป่า แทนที่จะแบ่งคนตามจุดต่าง ๆ ให้ความรู้และรับข้อมูลข่าวสาร 
แม้กระทั่งการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับศพก็น่าจะทำได้แต่ไม่ทำ 

	เนี่ยคือความคิดของพวกเราที่ไปประสบพบเห็นมา และแล้ววันนั้นเราก็ต้องกลับกันด้วย 
ความฉงนและถูกมองกันแบบแปลก ๆ แต่พวกเราคิดว่าถ้าพรุ่งนี้ทางหน่วยงานนี้ต้องการจะให้ช่วย
ก็เอาสิพวกเราจะมาทำหน้าที่ให้โดยไม่บ่นเลย และที่สำคัญเราก็อยากรู้เหมือนกันว่า 
พวกเค้าเหล่านั้นทำงานกันอย่างไร พวกเราเดินทางกลับทับละมุกัน 
ในขณะเดินทางกลับคืนนั้นตามถนนที่เดินทางมามืดสนิทจนสามารถมองเห็นดาวเต็มท้องฟ้ามากมาย 
ไม่น่าเชื่อว่าในคืนอันเงียบสงัดท่ามกลางความโศกเศร้ายังมีแผ่นฟ้าอันกว้างใหญ่ที่ปกคลุมโลกใบนี้อยู่
โดยมีดวงดาวหลายดวงกำลังจ้องมองพวกเราอยู่เช่นกัน 

	เมื่อเรากลับมาถึงที่พักก็ได้พูดคุยกันระหว่างกลุ่มที่ไปปฏิบัติภารกิจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง 
สำหรับกลุ่มที่ 1 ที่เดินทางไปบริจาคสิ่งของก็ได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ฟังว่าชาวบ้านมีความเดือดร้อนกันมาก 
การที่คนไทยร่วมช่วยกันบริจาคสิ่งของให้กับพวกเขาเหล่านั้นใช่ว่าพวกเขาไม่พอใจ แต่เขาก็มีคำถามขึ้นมาว่า 
เอามาทำไม มาม่า ปลากระป๋อง มากพอแล้วแต่ของที่ใช้ประกอบ เช่น เตา หม้อข้าว ไม่มีพวกเขาเหล่านั้นจะทำอย่างไร 
อีกอย่างก็คือ คำถามที่ดูเหมือนตลกเมื่อได้ฟัง “มุ้งมีไหม” ตอนนี้ไม่มีที่นอน เอามาแต่ของกินตอนนี้นอนกับดินอยู่แล้ว 
เนี่ยแหละเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้น้ำใจในการช่วยเหลือมากล้นแต่การช่วยที่ไม่ตรงจุดอาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้ 

3 มกราคม 2548 
	วันนี้ต้องเป็นวันที่พวกเราเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ บางกลุ่มเดินทางกลับตั้งแต่เช้า 
ก็เหลือเพียงบางกลุ่มที่ต้องรอไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน แต่ในเช้านี้ก็มีการแบ่งงานกันเหมือนเดิม 
กลุ่มที่ 1 จัดเก็บบ้านพักให้อยู่ในสภาพดี กลุ่มที่ 2 ไปช่วยขนของสัมภาระในกองอำนวยการ 
กลุ่มที่ 3 เดินทางไปวัดย่านยาว (ตะกั่วป่า) พร้อมกับอาสาสมัครเรือกระบุรี กลุ่มที่ 4 ไปช่วยเก็บศพที่เรือริ้น 

	สาระสำคัญคงอยู่ที่กลุ่มที่ 3 และ 4 โดยกลุ่ม 3 เดินทางด้วยรถนำพลพรรคซึ่งแต่งตัวอย่างรัดกุม
ไปที่วัดดังกล่าวซึ่งทราบแต่ว่าจะไปเก็บศพแต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะไปเก็บอะไร
เมื่อไปถึงก็ทราบว่าจะต้องไปเก็บศพที่วัดแห่งหนึ่งที่มีการฝังศพลงไปแล้วแต่ด้วยเหตุขัดข้องทางข้อมูล
ที่ต้องทำการขุดศพดังกล่าวขึ้นมาตรวจใหม่อีกครั้งให้ตรงกับข้อมูลที่มีเก็บไว้ พวกเรานั่นแหละที่จะต้องไปทำ 
ก่อนอื่นก็เริ่มจากการแต่งกายให้รัดกุม โดยสวมเสื้อคลุม ใส่ถุงมือถึง 3 ชั้น มีผ้าปิดปากอย่างมิดชิด สวมแว่นตา 
รองเท้าก็เป็นรองเท้าบูท นอกจากนี้ยังมีการหุ้มพลาสติกตั้งแต่ขาขึ้นมาเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก 
ทีมของเราเชื่อได้ว่าเป็นกลุ่มที่สนุกสนานไม่รู้จักเครียดซึ่งเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ 

	การทำงานก็เริ่มขึ้นหลังจากแต่งกายเรียบร้อยโดยเดินทางไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร อาวุธที่เราได้ก็คือจอบและพลั่ว 
ในการขุดศพ พวกเราจะจัดการโดยแบ่งกันขุดเป็นกลุ่ม ๆ โดยเมื่อกลุ่มแรกขุดก็จะทำการยกให้คนที่อยู่ข้างบน 
บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้เมรุจะมีหมายปักไว้ว่าบริเวณนี้เป็นที่มีศพอยู่และมีหมายเลขบอกให้ตรงกัน 

	เมื่อทำการขุดขึ้นมาก็จะพบว่าข้างผ้าห่อศพทั้ง 2 ข้างจะมีหลายเลขเขียนไว้ แล้วนำศพขึ้นมาเพื่อตรวจเช็คว่าศพนั้น ๆ 
ตรงกับหมายเลขที่บันทึกไว้หรือไม่เนื่องจากเกิดความผิดพลาดของข้อมูล จึงทำให้พวกเราต้องมาขุดศพเหล่านั้น
ขึ้นมาตรวจใหม่อีกครั้ง เมื่อกลุ่มแรกขุดเสร็จก็เป็นทีมที่ 2 ที่ต้องปฏิบัติภารกิจต่อ 
ในกลุ่มพวกเราจะมีแผนกสับ ก็สับเหงื่อที่ไหลพร่างพรูรู้แต่เพียงว่าเมื่อถอดรองเท้ามาน้ำในรองเท้าเยอะมาก 
ไม่คิดว่าการขุดดินหาศพจะหนักเหมือนกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่เป็นคนละหน่วยงานในการขุด 
หน้าตาของพวกเขาเหล่านั้นจะหงิกไม่ได้เหมือนพวกเราอาจจะเป็นเพราะมีคนรังสรรค์ความสนุกไปด้วยในกลุ่ม (โป้ง รุ่น 3) 
ดีแล้วการทำงานจะได้ไม่เครียด 

	เมื่อขุดศพขึ้นมาก็จะมีหน่วยงานมาเก็บไปปฏิบัติเช่นนี้ก็ได้ประมาณ 20 กว่าศพ เวลาก็หมดลง 
เพราะเราจะต้องเดินทางกลับทับละมุ เวลา 16.00 น. กลับมาชำระร่างกายด้วยยาฆ่าเชื้อแล้วเดินทางกลับ 
นับได้ว่ากลุ่มนี้ก็ปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือเช่นกันได้ถึงที่สุดเช่นกัน 

	กลุ่มที่ 4 เดินทางกับเรือริ้นเพื่อเก็บศพตามทะเล ในขณะเดียวกันก็มีเรืออื่น ๆ เดินทางไปเก็บด้วยวันนั้น
ได้ข่าวว่าทางเรือริ้นไม่สามารถเก็บศพได้แต่ต้องเป็นเรือที่ขนถ่ายศพจากเรือลำอื่นเข้าสู่ฝั่ง 
เนื่องจากเรือลำอื่นไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่ฐานทัพได้เพราะน้ำลดลงมาก  
กลุ่มนี้ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเดินทางออกสู่ท้องทะเลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย 
	
	และแล้วถึงเวลาที่เราต้องเดินทางกลับชุดแรกได้รับความอนุเคราะห์จากรถขนส่งของทหารเรือ
ที่นำพาคณะไปที่สนามบิน เมื่อเดินทางไปถึงเราได้ลงชื่อใน boarding pass เพื่อเตรียมขึ้นเครื่องกลับ
ซึ่งถ้าเครื่องใดว่างก็สามารถกลับได้แต่ไม่น่าเชื่อที่การประสานงานแล้วเราสามารถได้กลับเครื่อง TG214 
รู้สึกสบายมาก ถ้าลองเปรียบเทียบราคาในการเดินทางกลับต้องหลายบาท 
อีกทั้งบางคนมีสัมภาระเกี่ยวกับอุปกรณ์ดำน้ำ ลองคิดดูซิว่าถ้ามาเองจะต้องเสียค่าโหลดของเท่าไร 
แต่พวกเราได้รับความอนุเคราะห์จากการบินไทย ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมาด้วย 
เครื่อง Take off 15.45 และใช้เวลาในการเดินทางเพียง 45 นาที ก็มาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง 

ในที่สุดภารกิจครั้งนี้ก็สิ้นสุด ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเพียงน้อยนิดและจะช่วยอะไรได้ไม่มาก แต่ความหลากหลายในการทำงาน 
ก็มีมากเหลือเกิน ขอบคุณทุกคนที่ร่วมเดินทาง ช่วยเหลือ แม้จะเหนื่อยกับแสงแดด ผู้คน และอื่น ๆ 
แต่ทุกคนก็ไม่รู้สึกโกรธหรือหนักใจอะไร แต่กลับรู้สึกว่าได้บุญและเป็นบุคคล ที่มีค่าที่สามารถช่วยเหลือ 
หรือบำเพ็ญประโยชน์ได้ พวกเราจะจำการปฏิบัติงานครั้งนี้ไปอีกนานทำให้ได้รับรู้ถึงการให้ 
ความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อ การไม่ทอดทิ้งกันในกลุ่มของนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ 
ถึงแม้ว่ามาครั้งนี้จะไม่ได้ดำน้ำก็ตาม... 

G-golf ผู้เขียน

:: ภาพการทำงาน ::
  

 

:: ThaiDive.Org ::

ThaiDive.Org © all rights reserved