เตรียมตัวเป็น นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ ThaiDive.Org


 

“การทดสอบร่างกาย” กำแพงด่านแรกสู่การเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์

สวัสดีครับน้องๆ “ว่าที่นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์” หรือที่เราเรียกตัวเองสั้น ๆ ว่า “นพอ.” เอาเป็นว่าเป็น 'ว่าที่' ไปก่อนแล้วกันนะครับ ในฐานะที่เผลอคลิกบทความนี้มาอ่าน เราก็ถือว่าคุณคือคนหนึ่งที่ตั้งใจจะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา การจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนพอ. ไม่ใช่เรื่องยากครับ แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับบางคน เพราะต้องผ่านการคัดเลือก โดยทดสอบร่างกาย , การฝึกดำผิวน้ำเพื่อเตรียมการก่อนเข้าฝึกจริง , การเรียนทฤษฎีในห้องเรียน , การฝึกการใช้อุปกรณ์ในสระว่ายน้ำและฝึกจริงในทะเล เป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 14 วัน กับเพื่อน ๆ อีกกว่า 50 ชีวิต ขอรับรองว่าเป็นการฝึกที่สนุกมากครับ และจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหนอีกแล้ว เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ อย่างหนึ่งในชีวิต สำหรับคนที่ได้มีโอกาสมาสัมผัส รับรองได้ครับ ไม่ได้โม้ ! ถ้าเริ่มสนใจแล้วมาดูกันเลยดีกว่า สำหรับกำแพงด่านแรกสำหรับการเป็นนพอ.

การคัดเลือกผู้ที่สามารถเข้ารับการฝึก ใช้วิธีการทดสอบร่างกาย ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ( นสร. ) ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบการฝึกนพอ.ทั้งหมด เป็นหน่วยเดียวที่ฝึก “นักทำลายใต้น้ำจู่โจม” ทหารเรือเค้าเรียกกันว่า “มนุษย์กบ” หรือถ้าเรียกเท่ห์ ๆ ก็ “SEAL” ของไทยดี ๆ นี่เอง แต่ไม่ต้องตกใจครับ เพราะเค้าไม่ได้ฝึกเราไปทำลายอะไรใต้น้ำ แต่ฝึกเพื่อไปอนุรักษ์ทรัพยากรใต้น้ำ ‘มนุษย์เขียด' อย่างเรา ๆ ก็จะได้วิชาการดำน้ำจากครู ๆ มนุษย์กบเหล่านี้เท่านั้น วิชาทำลายเค้าไม่ให้หรอก การฝึกเลยสบาย ๆ แบบว่าเหนื่อย ๆ กำลังมันส์ !

เป็นไงหล่ะ ! เริ่มเห็นเค้าความมันส์บ้างหรือยังครับ มาดูกันต่อดีกว่าว่ากำแพงด่านแรก หรือการทดสอบรางการเค้าทดสอบกันยังไง ? บรรยากาศวันทดสอบเป็นอย่างไร ? เทคนิคต่าง ๆ และการเตรียมตัวก่อนทดสอบ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับน้อง ๆในการเตรียมตัวก่อนการเข้าทดสอบ

“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” เชียวนะครับ

การทดสอบร่างกายที่ผ่านมาจะมีการว่ายน้ำ , กลั้นหายใจใต้น้ำ, ดึงข้อ, วิดพื้น และ Sit-Up แค่นี้เอง ง่ายมากครับ แต่ !! บอกไว้ก่อนว่าง่ายสำหรับคนออกกำลังหรือเล่นกีฬาเป็นประจำอยู่แล้วเท่านั้นครับ คนที่ไม่ค่อยออกกำลังหรือไม่ค่อยมีโอกาสเล่นกีฬาควร จัดตารางการฝึกและฟิตร่างกายให้ดี พวกนักกีฬารุ่นเก๋าที่ร้างลาสนามมาแล้วเป็นค่อนทศวรรษ ก็อย่าได้นิ่งนอนใจเป็นอันขาด อันนี้ไม่ได้ว่าใครนะครับ ประสบการณ์ตรงในปีที่ผมเข้ามาสมัครและอ่านเกณฑ์การทดสอบร่างกายแล้วแอบกระหยิ่มอยู่ในใจ ไอ้เราก็นักกีฬาเก่าแค่นี้หมู ๆ พอลองไปว่ายน้ำ 200 เมตร นี่ก็แทบอ๊วกแล้ว ขึ้นจากสระวิ่งไปดึงข้อในสนามต่อ ปรากฏว่าดึงไม่ได้เลยซักครั้ง ! แขนมันนิ่งเลยครับ ! เลยต้องตั้งหน้าตั้งตาฟิตซ้อมร่างกายใหม่

“ นักกีฬาชราร้างสนามทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจโดยเด็ดขาด !”

 

การทดสอบว่ายน้ำ

การว่ายน้ำและกลั้นหายใจใต้น้ำสำคัญที่สุด เป็นการสอบภาคเช้า ถ้าหากคุณไม่ผ่านก็ตกไปเลย ไม่ต้องสอบอย่างอื่น กลับบ้านไปได้เลย ไม่ใช่ว่าทหารเรือโหดใจไม้ไส้ระกำแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณหลุดเข้าไปโดยที่ยังว่ายน้ำได้ไม่ดี ตอนฝึกจะลำบากมากครับ และก็จะรู้สึกไม่สนุกกับการฝึก ถ้าหากไปด้วยร่างกายที่ไม่พร้อม

ทุก ๆ ปีจะใช้สระว่ายน้ำของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือที่เรียก ๆ กันว่าโรงบาลทหารเรือ อยู่ที่สำเหร่ ใกล้ ๆ วงเวียนใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่ปิ่นเกล้าแต่อย่างใดอย่าสับสนนะครับ สระว่ายน้ำของโรงบาลทหารเรือเป็นสระขนาด 25 เมตร ลึกสูงสุดประมาณ 3 เมตร อีกด้านตื่นแค่อก เมื่อลงทะเบียนรายงานตัวหน้าสระว่ายน้ำเสร็จ ครู ๆ ก็จะมาบรรยายรูปแบบวิธีการทำการทดสอบ โดยจับคู่ buddy เพื่อใช้ลู่ในการทดสอบร่วมกัน การว่ายจะว่ายลู่ละ 2 คน มีครูฝึกนั่งทำหน้าหล่อ ๆ แกมเหี้ยมคอยจับเวลา โดยให้คนแรกว่ายไปจนสุดอีกด้าน แล้วก็ปล่อยอีกคนตามไป การว่ายก็จะสวนทางกัน ( นอกเสียจากโดนน๊อครอบ ) อันนี้ต้องระวังถ้าเจอคู่ buddy เสร่อ ๆ อาจมีการจิ้มตากันได้ แต่ถ้าคิดว่าห้องฉุกเฉินก็อยู่แค่นี่เอง ก็จิ้มกันไปเถอะ ! ต้องนัดกันให้ดีว่าจะชิดซ้ายหรือชิดขวา จะได้ไม่เสียเวลาและพะวงขณะว่าย การทำเวลาก็จะดีกว่า

ความตื้นของสระเป็นปัญหาหนึ่งสำหรับคนไม่สัดทัดวิธีการกลับตัว หรือว่ายน้ำพองู ๆ ปลา ๆ เพราะการกลับตัวด้านตื้นขาอาจจะลากพื้น รอบหลัง ๆ พอเริ่มเหนื่อยก็เลยมีการลุกขึ้นยืนแล้วกลับหลังหันมันซะงั้น เลย ! ยิ่งรอบท้าย ๆ ลุกยืนหอบก่อนตามจำนวนรอบแล้วค่อยลงไปว่ายใหม่ อันนี้ไม่แนะนำครับ ไม่ควรเพราะมันทำให้เราแรงตก ควรกลับตัวในน้ำและอาศัย momentum และแรงถีบต่อเนื่องจากการเคลื่อนที่ว่ายต่อไปเรื่อยจะเหนื่อยน้อยกว่า

ท่าว่ายจะใช้ท่าไหนก็ได้ free style , กบ , ลูกหมาตกน้ำ ก็ว่าย ๆไปเถอะตามถนัด

ผีเสื้ออย่าครับ !! อย่า ! มันอาจเท่ห์ แม้คุณอาจเด่นเป็นเป้าสายตาของสาว ๆ ข้างสระที่กำลังชื่นชมในความสามารถ (หรือไม่ก็กำลังสงสัยว่าเจ้านี่มันเป็นอะไรของมัน) แต่มือคุณจะไปฟาดหัวเพื่อนที่กำลังสวนมาได้ จากนั้นอาจมีท่า หักงวงไอยรา บาทาเหินหาวตามมาก็เป็นได้

หรือถ้าถนัดจะใส่ผ้าถุงตีโป่งว่าย อันนี้ก็จะลำบากหน่อยเวลาไปฝึก ลองนึกภาพถ้าคุณใส่ตีนกบกับหน้ากากดำน้ำ นุ่งผ้าถุงตีโป่ง มันคงดูพิลึกยังไงชอบกล !! โดยทั่วไปว่าย free style จะเร็วและทำเวลาได้ดี ถ้าใครไม่ฟิตพอก็ใช้ท่ากบเอาไว้พักเวลาเหนื่อย ๆ หายเหนื่อยก็จ้วง free style กันอีกที รับรองทำคะแนนเต็มได้ไม่ยาก อยู่ที่การเตรียมตัวครับ ใครที่ว่าย free style 200 เมตร ไม่ไหวลองฝึก free style ครึ่งและท่ากบครึ่ง พร้อมดูเวลาที่ทำได้ แล้วก็ลดระยะท่ากบลงเรื่อย ๆ พร้อมกับดูเวลาที่ทำได้ด้วยว่าพัฒนาได้ขนาดไหน

สรุปว่าเน้น ๆ ครับ ว่ายน้ำถ้าทำคะแนนได้เต็มจะช่วยได้มาก เพราะคะแนนว่ายน้ำจะเยอะ อัดเต็มที่ไม่ต้องกั๊ก ทำคะแนนให้มากที่สุด เพราะเมื่อว่ายเสร็จ ก็จะมีเวลาพักให้คนอื่นว่ายจนหมด และสอบกลั้นหายใจใต้น้ำ จากนั้นก็จะได้พักอีก 1-2 ชั่วโมง พวกขี้เซาก็หาที่แอบหลับ หรือทำความรู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่มาให้กำลังใจ ไว้ ใครอ้อนเก่งก็อ้อน ๆให้พี่ ๆ ช่วยนวดให้บ้างก็ได้ แล้วตอนบ่ายค่อยสอบส่วนที่เหลือ เพราะฉะนั้นว่ายน้ำให้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวว่าจะหมดแรงสอบอย่างอื่นไม่ไหว

บรรยากาศก่อนทดสอบว่ายน้ำ ครูแบ่งกลุ่มและชี้แจงวิธีทดสอบ

 

การกลั้นหายใจใต้น้ำ

หลังจากว่ายน้ำเสร็จ พักรอเพื่อนคนอื่นว่ายจนเสร็จพอหายเหนื่อย ก็จะเป็นการสอบกลั้นหายใจใต้น้ำ การว่ายน้ำก่อนมีส่วนช่วยให้สามารถกลั้นหายใจได้นานขึ้น การว่ายน้ำเหนื่อย ๆ เหมือนกับการเตรียมปอด ปอดจะยืดขยายเต็มที่ขณะว่ายน้ำ เนื่องจากร่างกายต้องการออกซิเจนมาก ครูเรียกว่าการ “ระเบิดปอด” คนละอย่างกับ “ปอดแหก”! และไม่ใช่อาการต่อเนื่องจากการระเบิดปอดแต่อย่างใด

หลังจากโดนระเบิดปอดกันทั่วหน้าแล้ว การทดสอบก็จะเริ่มขึ้น โดยจับ buddy เช่นเดิม คนทดสอบจะต้องกลั้นหายใจ แล้วลงไปนอนราบที่พื้นสระ จับข้อเท้า หรือถ้าพอใจจะจับอย่างอื่นของ buddy ก็ไม่ว่ากัน ครูเคยบอกว่า “ ให้ buddy เอาขาหนีบหัวไว้ก็ได้ แต่ระวัง buddy ลืมปล่อยก็แล้วกัน !!” buddy จะยืนชิดขอบสระ ครูฝึกจะทำหน้าดุคอยจับเวลาและให้สัญญาณเริ่ม ส่วนใหญ่จะบอก “อึ๊บ !!” ตั้งสมาธิให้ดี อย่าเพิ่งสงสัยว่าทำไมต้อง “ อึ๊บ !!” ความหมายมันอาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด ทิ้งตัวลงไปใต้น้ำจับข้อเท้า buddy ทำตัวให้นิ่งที่สุด เพื่อให้ร่างกายใช้ออกซิเจนน้อยที่สุด ครูฝึกจะบอกเวลาทุก ๆ 10 วินาที buddy ที่ยืนขอบสระก็จะตระโกนที่ผิวน้ำ เพื่อให้คนที่ดำอยู่พื้นสระรู้ว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่ แต่บอกไว้ก่อนว่าอย่าไปสนใจมาก เพราะจะได้ยินเสียงตะโกนกันให้ระงมไปหมด ไม่รู้ใครเป็นใคร ลู่ไหนเป็นลู่ไหน บางทีได้ยินลู่ข้าง ๆ ตะโกนว่าว่า “40 !!” ดีใจใหญ่ นึกว่าตัวเองผ่าน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งลงไปแค่ 20 วินาที ทะลึ่งโผล่ขึ้นมาผิวน้ำก่อน “ตก !! ครับ ตก !!”

ให้รอจนกระทั่งไม่ไหว หรือถ้าทำเวลาได้เท่าเกณฑ์คะแนนเต็มหรือ 90 วินาที buddy ก็จะสะกิดให้สัญญาณว่าขึ้นได้

การทดสอบกลั้นหายใจ โดย buddy ยืนหลังชิดดขอบสระ และผู้ทดสอบอยู่ใต้น้ำ

 

เทคนิคการกลั้นหายใจใต้น้ำให้นาน ๆ

มีเทคนิคเล็ก ๆน้อย ๆหลายอย่างที่สามารถช่วยให้กลั้นหายใจใต้น้ำได้นานขึ้น

ไม่ต้องอาศัยหลวงพ่อดี ๆ ที่ไหน ไม่เชื่ออย่าลบลู่ !! ช่วยได้จริง !!

อันดับแรกเลยสูดหายใจเข้าเต็มปอดลึก ๆ แล้วหายใจออกให้หมด เพื่อเคลียร์คาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกายให้มากที่สุด ทำอย่างนี้ 3 ครั้งติด ๆ กัน คำเตือนห้ามเกิน 3 ครั้งโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้หมดสติใต้น้ำได้ !! ตำราบอกไว้ว่าอย่างนั้น วิธีนี้เรียกว่าการทำ Hyperventilation โดยปกติสมองจะสั่งให้ร่างกายหายใจเมื่อร่างกายมีการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์มาระดับหนึ่ง การทำ Hyperventilation มากเกินไป ทำให้การสั่งการของสมองให้ร่างกายหายใจไม่สมดุลกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสม สมองอาจจะยังไม่สั่งให้ร่างกายหายใจทั้ง ๆ ที่มีคาร์บอนไดออกไซด์มากในระดับที่อันตรายแล้ว ซึ่งมีผลให้หมดสติใต้น้ำได้

เทคนิคการหายใจอีกวิธีทีครูฝึกแนะนำไว้ คือการหายใจครั้งสุดท้ายก่อนลงสู้ใต้น้ำให้เก็บอากาศอมไว้ที่แก้มด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อรู้สึกอึดอัดจนทนไม่ไหว ให้กลืนอากาศที่เหลือในปากลงไปในปอด ก็จะอยู่ได้อีกหลายวินาทีเชียวหล่ะ

การลงสู่ใต้น้ำต้องลงให้ตัวลงไปอยู่พื้นสระให้นิ่งที่สุด คือลงไปแล้วอยู่ในท่านอนคว่ำราบกับพื้น ไม่มีการดิ้น ไม่ตีเท้า ตัวไม่ลอย อาจจะต้องเกร็งข้อมือเล็กน้อยเพื่ออยู่ในท่าที่ออกแรงน้อยที่สุดคือนอนราบกับพื้นให้มากที่สุด พยายามฝึกท่าลงแล้วตัวไม่ลอยถ้าปล่อยให้ตัวลอยแล้ว เราต้องออกแรงส่วนหนึ่งเพื่อฝืนให้ตัวจมลงมาจะเสียแรง และทำตัวให้นิ่งที่สุด การขยับร่างกายมากออกแรงมากหมายถึงการบริโภคออกซิเจนมากเช่นกัน

ขณะอยู่ใต้น้ำให้ตั้งสมาธิ ผ่อนคลายให้มากที่สุด อย่าวอกแวก อย่าตกใจ อาจจะเอานาฬิกาลงไปดู แต่ถ้าคิดว่าดูแล้วทำให้รู้สึกกดดันก็ไม่ต้องดูก็ได้ แล้วแต่เทคนิคแต่ละคน ครูเคยแนะนำว่าให้ร้องเพลงชาติช้า ๆ จบ 1 รอบก็จะผ่านแน่นอน ร้องเนิบ ๆ เด็กแนวอย่าร้องแบบ Hip-Hop! จบแล้วจะร้องเพลงชาติอื่นต่อด้วยก็ไม่มีใครว่า

ในช่วงแรกเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งจะรู้สึกอึดอัดมาก ให้ทนไปก่อน อย่าดิ้น อย่าคิดว่าไม่ไหว ! ฉันต้องตายแน่ ๆ ! มันไม่ตายหรอกครับน้ำตื้นแค่อก ห้องฉุกเฉินก็ห่างไปไม่กี่ก้าว ( อันนี้ล้อเล่น :p ) อย่าหายใจออกเด็ดขาด การหายใจออกจะยิ่งทำให้อึดอัดมากขึ้น ตั้งสมาธิให้ดี เพราะร่างกายยังอยู่ได้ ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ ร่างกายก็จะนิ่งไม่อึดอัด จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

เมื่อรู้สึกไม่ไหวจริง ๆ ให้ค่อย ๆ ขึ้นช้า ๆ พร้อมกับผ่อนลมหายใจออก การขึ้นช้า ๆ สามารถถ่วงเวลาได้หลายวินาทีเลยทีเดียว

อีกเทคนิค อาจจะแปลก ๆ แต่มันก็ได้ผลมาก ลองมาแล้ว คือเมื่อรู้สึกอึดอัดมาก ๆ ให้กลืนน้ำในสระลงไป จิบ ๆ อย่ากินมาก เดี๋ยวน้ำหมดสระ ! ไอ้ที่แอบ ๆ ฉี่ไว้ตอนว่ายน้ำก็ลืม ๆ ไปซะก่อน กลืนลงไปเลย ช่วยได้จริง ๆ ใครไม่กล้าจิบเพราะแอบไปทำอะไรในน้ำไว้มากกว่าฉี่ จะเตรียมกระติกน้ำส่วนตัวลงไปด้วยก็ได้หรือเปล่านี่ ไม่รู้ครูจะอนุญาตหรือเปล่า ต้องต่อรองเอง

การทดสอบถ้าไม่ผ่านสามารถแก้ตัวได้อีกครั้ง ควรทดสอบให้ผ่านในรอบแรก เพราะจะไม่เหนื่อย การทดสอบหลายครั้ง จะเหนื่อยและทำเวลาได้น้อยลง

ก่อนทดสอบครูจะให้ลองก่อนหนึ่งครั้ง โดยครูไม่จับเวลา ให้นัดแนะกับครูให้แน่นอนว่าจะลอง หรือจะเอาจริงเพราะบางคนดำลงไปทำเวลาได้เต็ม แต่ครูนึกว่าลองเล่น ๆ ไม่ได้จับเวลาก็ซวยไปต้องสอบใหม่

ทคนิคเหล่านี้เป็นเทคนิคที่ครูจะแนะนำก่อนการทดสอบ ซึ่งน้อง ๆ สามารถนำไปลองฝึกดูก่อนได้ เวลาทุกวินาทีล้วนหมายถึงคะแนน เทคนิคเหล่านี้สามารถช่วยให้กลั้นหายใจใต้น้ำได้มากขึ้นมากทีเดียว ใครที่เวลากลั้นหายใจอยู่พื้นสระ แล้วรู้สึกว่ามีมือ ( หรือเท้า !) มากดที่หัวไม่ให้ขึ้นอย่าเพิ่งตกใจไป ! เพราะครูฝึก หรือรุ่นพี่ที่หวังดีเอ็นดู ( ไม่ก็หมั่นไส้ !) ในตัวน้องเป็นพิเศษอยากให้น้องสอบผ่าน อาจเป็นเพราะกลั้นใจอีกนิดก็จะผ่านอยู่แล้ว เลยช่วยอีกแรงให้ผ่าน บอกแล้วว่า ห้องฉุกเฉินห่างไปไม่กี่ก้าว ( อิๆๆๆๆ )

 

การสอบภาคบ่าย

การสอบภาคบ่ายจะเป็นการทดสอบดึงข้อ, วิดพื้น, ลุกนั่ง (Sit-up) มีรายละเอียดดังนี้

การทดสอบดึงข้อ

ชาย ไม่จำกัดเวลา คะแนนผ่าน 4 ครั้ง คะแนนเต็ม 20 ครั้ง มือคว่ำกำรอบคาน หัวแม่มืออยู่ใต้คาน ฝ่ามือหันออกด้านนอกลำตัว ลำตัว แขน ขา ตึง เท้าไม่ถึงพื้น ( ท่าเตรียม ) และจะไม่นับครั้ง ถ้า :-

- คางไม่อยู่เหนือคาน

- ไม่หย่อนตัวให้สุด

- เตะขา หรือสะบัดลำตัว หรือตัวแกว่ง

หญิง โหนตัวกับราวเดี่ยวนาน 50 วินาที คะแนนผ่าน 50 วินาที คะแนนเต็ม 100 วินาที

คำว่าโหนตัวหมายถึง จับราวแล้วแขวนอยู่นิ่ง ไม่ขยับตัว หลับไปเลยก็ได้ไม่ว่ากัน

การดึงข้อถือว่าเป็นด่านปราบเซียน ส่วนใหญ่จะมาตกม้าตายกันตอนนี้ ขนาดว่าผู้ชายให้ดึงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น ดู ๆ แล้วมันเล็กน้อยมากสำหรับชายอกสามศอกอย่างเรา ๆ ครั้งแรกที่เข้ามาทดสอบได้อ่านเกณฑ์ทดสอบรู้สึกว่า “ โธ่ ! แค่ 4 ครั้งผ่าน ดูถูกกันเกินไปหรือเปล่า ” ปรากฏว่าพอลองครั้งแรกเข้าจริง ๆ หลังว่ายน้ำ ผมดึงไม่ได้ซักครั้งเลยครับ และด่านนี้จะตกกันเยอะทุกปี บางคนว่ายน้ำคะแนนเต็ม กล้ามโตยังกะอาร์โนลมาถึงดึงข้อตกเอาดื้อ ๆ แต่ครูยังใจดี ถ้าไม่ผ่านให้แก้ตัวได้ โดยมาสอบใหม่หลังจากสอบลุกนั่ง และ วิดพื้นเสร็จ แล้วคิดดูว่าทดสอบภาคเช้าเสร็จแล้วได้พักมาตั้ง 2 ชั่วโมงยังดึงกันไม่ผ่าน แล้วให้ไปวิดพื้นก่อนแล้วมาสอบใหม่ ลืมไปได้เลยครับ เพราะฉะนั้นสอบรอบแรกให้ผ่านให้ได้ ถ้าดึงได้ไม่มาก เอาแค่ผ่าน แล้วไปเอาคะแนนจากวิดพื้นดีกว่า เพราะออกแรงแขนน้อยกว่า แต่สามารถทำคะแนนได้ง่ายกว่าเยอะ

การทดสอบผู้ทดสอบยืนรอที่ราว โดยจะมีที่ให้เหยียบ มือกำรอบคานฝ่ามือหันออกนอกลำตัว บริเวณที่จับครูจะเอาเทปกาวมาติดไว้เพื่อไม่ให้ลื่น ปรับมุมข้อมือให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะตามที่ซักซ้อมมา เพราะมันจะหนึบติดมือ ถ้ามาขยับปรับเปลี่ยนทีหลังจะทำให้เสียแรงไปเยอะทีเดียว เมื่อพร้อมก็เริ่มดึงถ้าทำได้ถูกต้องตามกติกาทุกอย่างครูก็จะนับ ถ้าไม่ถูกครูก็จะไม่ “ ไม่นับ ” ส่วนผู้หญิงครูก็จะจับเวลา และขานเวลาให้รับทราบ

ส่วนเทคนิคไม่มีอะไรมากครับซ้อมมาเยอะ ก็ทำได้เยอะ มีเทคนิคอยู่นิดนึง ลองทดสอบดูได้ ตรงที่เมื่อดึงตัวเองขึ้นสุดโดยให้คางเกยราว แล้วปล่อยตัวลงมาจุดต่ำสุด ให้ดึงขึ้นเลยทันที จะช่วยประหยัดแรงได้มากกว่าการปล่อยตัวลงมาแล้วค้างไว้ข้างล่าง แล้วค่อยดึงตัวเองขึ้นมาใหม่ และระวังอย่างให้ตัวแกว่ง เพราะจะไม่นับคะแนนและเสียแรงไปเปล่า ๆ

 

ครูมนุษย์กบกำลังสาธิตวิธีดึงข้อที่ถูกต้อง

   

สำหรับผู้หญิง แค่ขึ้นไปห้อยนิ่ง ๆ อยู่ที่คาน อุ๊บ !! ขอโทษ 'ราว'!! ไม่ใช่คาน
จะหลับแบบนี้ก็ได้ พอเวลาผ่านแล้วก็จะมีคนมาปลุก

 

ช่วงนี้ก็มอง ๆ หาที่ดึงข้อไว้ครับ บ้านใครใกล้ค่ายทหารจะได้เปรียบเพราะมีทั้งสระว่ายน้ำและราวเดี่ยว น้อง ๆ เรียนมหาวิทยาลัยจะใช้เสาประตูฟุตบอลก็ใกล้เคียงของจริง พี่ ๆ ที่ทำงานแล้วก็อาศัยราวรถเมล์ดึง ๆไปก่อนแก้เซ็งเวลารถติด แต่ระวังกระเป๋ารถเมล์ว่าเอา กระเป๋ารถเมล์ประเทศนี้ดุ !

 

การทดสอบลุกนั่ง (Sit-up)

เมื่อทุกคนผ่าน ( และไม่ผ่าน ) การทดสอบดึงข้อแล้ว ด่านต่อไปจะเป็นการทดสอบลุกนั่ง เกณฑ์การทดสอบคือ

ชาย คะแนนผ่าน 20 ครั้ง คะแนนเต็ม 79 ครั้ง ในเวลา 2 นาที

หญิง คะแนนผ่าน 20 ครั้ง คะแนนเต็ม 52 ครั้ง ในเวลา 2 นาที

นอนหงายราบ เข่าตึง มือประสานใต้ศีรษะ ผู้นับจับขาแน่น ( ท่าเตรียม ) ไม่นับครั้ง ถ้า :-

- มือหลุดออกจากศีรษะ

- ใช้ศอกยันพื้นขึ้นนั่ง

- ศอกขวาไม่แตะหน้าขาซ้าย หรือศอกซ้ายไม่แตะหน้าขาขวา

การทดสอบจะทดสอบพร้อมกันหลาย ๆ คนตามกลุ่มที่จัดไว้ โดยจะมีเบาะรอง ผู้ทดสอบนอนหงายมือประสานท้ายทอย ผู้ชายขาเหยียดตรงเน้น ๆ นะครับเหยียดตรง บางคนซ้อมแบบขางอมา อาจมีเซ็งเล็กน้อย ส่วนผู้หญิงเข่าจะงอ buddy นั่งคุกเข่าจับที่ข้อเท้าผู้ทดสอบ โดยข้อเท้าผู้ทดสอบอยู่ระหว่างเข่าทั้งสองข้างของ buddy ครูนั่งอยู่ข้าง ๆ เบาะคอยนับจำนวนครั้ง ถ้าทำผิดกติกาที่บอกไว้ ก็จะไม่นับให้ ( ใจร้ายมาก !) และจะมีครูอีกคนคอยจับเวลาทั้งกลุ่ม เมื่อครบ 2 นาทีก็จะบอกให้หยุด ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น

เทคนิคก็ไม่มีอะไรมาก เพราะทุกคนเคยทำกันทั้งนั้น ฝึกซ้อมมาเยอะก็ได้เยอะ จะมีนิดตรงที่ควรซ้อมมาให้เหมือนกับที่จะทดสอบ เช่น ขาเหยียด ตอนขึ้นศอกซ้ายต้องแตะเข่าขวา ศอกขวาแตะเข่าซ้ายสลับกัน ตอนลงนอนศอกทั้งสองข้างต้องกระแทกเบาะให้เห็นชัดเจน ถ้าซ้อมมาตามนี้เวลาทดสอบจะไม่หลุด เพราะเคยทำมาแล้วมันจะอัตโนมัติ บางคนไม่รู้พอทดสอบอาจมีหลง ๆ ลืม ๆ ครูก็ไม่นับให้ ทำให้เหนื่อยเปล่า

ผู้ชายขาเหยียดตรง จังหวะขึ้นศอกแตะเข่า จังหวะลงศอกทั้งสองกระแทกเบาะ

ผู้หญิงเข่างอ

เทคนิคอีกอย่างที่ช่วยได้มาก ๆ คือตอนทิ้งตัวลงนอน ให้ทิ้งตัวกระแทกเบาะไปเลย มันจะมีแรงส่งเราให้กระเด้งกลับขึ้นมานั่ง (Action = Re-action ฟิสิกส์ ม.ปลาย ) ช่วยทุ่นแรงได้เยอะมาก คนที่เคยซ้อมบนพื้นที่ไม่ใช่เบาะ พอมาทำที่เบาะแล้วทิ้งตัวให้กระแทกเบาะจะทำได้มากกว่าที่ซ้อมเยอะ บางคนเคยซ้อมได้แค่ 30 กว่าครั้ง พอเจอแบบนี้อาจทำได้ถึง 50 กว่า ๆ คนที่ได้เบาะแข็ง ๆ ก็จะดีกว่าคนที่ได้เบาะยวบ ๆ เพราะเบาะยวบ ๆ นุ่ม ๆ จะกินแรงมากกว่า

ผู้ทดสอบควรทำให้เร็วให้เต็มที่และถูกต้องไปเลย จนไม่ไหวจริง ๆ ค่อยหยุด เพราะถ้าทำเร็วก็จะมีเวลาเหลือให้นอนพักไปก่อนได้ อย่าหลับแล้วกัน ! จนสามารถทำไหวอีกครั้ง ก็สามารถฝืนได้อีกนิดหน่อย

ข้อระวัง ! Buddy อย่าก้มหัวมาก หัวจะกระแทกกับผู้ทดสอบได้

 

การทดสอบวิดพื้น

เสร็จจากลุกนั่งแล้ว กลุ่มที่ทดสอบลุกนั่งทีมแรก ซึ่งได้พักระหว่างทดสอบกลุ่มหลัง ๆ ก็จะถูกเรียกเข้าทดสอบวิดพื้น

ชาย คะแนนผ่าน 10 ครั้ง คะแนนเต็ม 54 ครั้ง ในเวลา 2 นาที

หญิง คะแนนผ่าน 10 ครั้ง คะแนนเต็ม 30 ครั้ง ในเวลา 2 นาที

นอนคว่ำ มือยันพื้น แขนเหยียดตรง ลำตัวตรงตั้งแต่ศีรษะถึงส้นเท้า ฝ่ามือทั้งสองวางใต้ไหล่พอดี ( ท่าเตรียม ) จะไม่นับครั้ง ถ้า : -

- หน้าอกไม่ถึงพื้น

- ท้องหรือเข่าแตะพื้น

- ยกไหล่ขึ้นก่อนตะโพกหรือยกตะโพกขึ้นก่อนไหล่

- แขนไม่ดึงขณะดันตัวขึ้น หรือแขนทั้งสองข้างขึ้นไม่พร้อมกัน

การทดสอบให้อยู่ในท่าเตรียม แขนขาเหยียดตรง ตามองไปข้างหน้า ลำตัวเป็นเส้นตรง ครูจะอยู่ด้านข้างนอนตะแคง ศอกยันพื้นโดยให้คว่ำฝ่ามือไว้ใต้อกผู้ทดสอบ จะนับแต้มก็ต่อเมื่อขึ้นสุดลงสุด ลำตัวตรง หน้าอกแตะที่หลังมือครู ( เฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงครูจะใช้วิธีดูการปฏิบัติ ) ขณะลงท้องและเข่าไม่แตะพื้น คนไหนอ้วนมากช่วยไม่ได้ แขม่วท้องไว้ให้ดี

เทคนิคเหมือนเดิม ซ้อมเยอะก็ทำได้เยอะครับ พยายามซ้อมให้เหมือนตอนทดสอบตามที่บอก และทำให้เร็วจะประหยัดแรงกว่าทำช้า ๆ เนิบ ๆ ใส่ให้เต็มที่เลย เพราะเป็นด่านสุดท้ายสำหรับคนที่ผ่านดึงข้อแล้ว ถ้าเกิดยังไม่ผ่าน จะต้องไปทดสอบใหม่ถ้าต้องการ

วิดพื้นท่าเตรียม ฝ่ามือขวาครูวางจะคว่ำอยู่ใต้อกสำหรับผู้ชาย

สำหรับผู้หญิงหัวเข่าราบที่พื้น ดันตัวให้สุดและลงสุดแตะพื้น

ทั้งหมดนั่นก็คือวิธีการทดสอบ บรรยากาศการทดสอบ และเทคนิคเล็ก ๆ น้อยที่สามารถช่วยให้ทำคะแนนได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกซ้อมการเตรียมตัว เตรียมร่างกายของแต่ละคน และอย่าลืมว่าการทดสอบผ่านเกณฑ์ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านเข้าไปฝึกได้ จะต้องมาดูคะแนนเปรียบเทียบกันทั้งหมดก่อน และเรียงตามลำดับคะแนนมากน้อย เพราะฉะนั้นชั่งน้ำหนักให้ดีว่าจะใช้ส่วนไหนทำคะแนน ส่วนที่ทำได้ไม่ดีอาจทำแค่ผ่านแล้วเตรียมส่วนที่คิดว่าทำได้ดี เพื่อให้คะแนนรวมเยอะที่สุด พยายามเดินทางมาที่ทดสอบก่อนเวลา ทานข้าว และเตรียมน้ำดื่มไว้ด้วยก็ดี อุปกรณ์ว่ายน้ำเตรียมให้พร้อม บางรุ่นมียืมกางเกงว่ายน้ำกันด้วย อันนี้ก็แสดงให้เห็นความไม่รอบคอบของตัวผู้ทดสอบแล้ว อยากจะบอกว่ามีแมวมองมาคอยดูด้วยว่าแต่ละคนเป็นยังไง เพราะฉะนั้นขอให้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

 

- แล้วเจอกันที่เกาะพระ บ้านของพวกเราชาวนพอ. “ นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ ” -

 

 

 

:: ThaiDive.Org ::

ThaiDive.Org © all rights reserved