กว่าจะเป็น นพอ. ThaiDive.Org  

 

กว่าจะเป็น : ม้าน้ำ นพอ. 14

 

ในวันนี้ที่เป็น ม้าน้ำ นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ ๑๔
(ว่าที่ร้อยโท รวี ศุภนิมิตวิเศษกุล ๑๔๐๔)

กว่าจะได้มาเป็น นพอ.รุ่นแห่งความรัก ทุกอย่างมันก็จะต้องมีการฟันฝ่า เริ่มตั้งแต่การติดตามข่าวสารว่าเมื่อไหร่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จะเปิดรับสมัคร นพอ. www.thaidive.org ที่เปิดเจอด้วยความบังเอิญที่กำลังหาข้อมูลการดำน้ำ  และผมคิดว่าทั้งผมและอีกหลายๆ คน คงพลาดการสมัครเพื่อเข้ารับการทดสอบเมื่อปีก่อน  มาปีนี้เราเตรียมตัวเป็นอย่างดี ฟิตซ้อมร่างกาย ติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความหวังว่า จะเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในครอบครัว นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ

 

ก่อนจะเป็น นพอ. เราจะต้องทำการฟิตซ้อมร่างกายให้สามารถผ่านเกณฑ์การทดสอบได้ ตั้งแต่การว่ายน้ำต่อเนื่อง การกลั้นหายใจใต้น้ำ การยึดข้อ การยึดพื้น (มันวิดพื้นหรือยึดพื้นกันแน่) การลุกนั่ง (Sit-Up) พวกเราทุกคนทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ไม่มีการออมแรง และทำเต็มที่เท่าที่ความสามารถมีให้ทำได้ ท้ายที่สุดก็มีผู้ที่สมหวังและผิดหวังเหมือนกับทุกๆ ครั้ง
ครั้งนี้ก็เช่นกัน บางคนแม้จะผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกายมาแล้ว แต่เมื่อตรวจสุขภาพร่างกายมีปัญหาไม่สามารถดำน้ำได้ ก็ต้องพบกับความผิดหวัง แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อย เราก็ได้รู้ว่าเราได้ทำ เราทำดีที่สุดแล้ว ดีกว่ามานั่งนึกเสียใจว่า ทำไมเราไม่ทำ (แม้จะแค่การทดสอบร่างกาย ความรู้สึกผูกพันก็เริ่มเกิดขึ้นกับการที่เราเห็นเพื่อนผู้ซึ่งเข้ารับการทดสอบ ทำได้ ทำไม่ได้ อย่างน้อยผมก็จำได้ว่า ยืนให้กำลังใจใครหลายๆ คนที่กำลังพยายามกันอย่างเต็มที่) ตอนตรวจร่างกาย ห้องปรับความดัน (หรือเรียกกันว่าห้อง Chamber) เป็นที่หนึ่งที่โดยปกติแล้วไม่มีคนเข้าไปใช้บริการ แต่เข้าไปเพื่อตรวจสอบว่าเราพร้อมสำหรับการดำน้ำหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการเคลียร์หู ปรับสภาพร่างกายให้รู้จักการปรับตัวกับแรงดัน  อีกทั้งยังเป็นห้องที่นักดำน้ำไม่อยากจะเข้า เพราะการเข้าไปหมายถึงเราต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างซึ่งจะต้องทำการปรับความดันหรือทำการรักษาในระดับความดันนั้นๆ

 

ขณะที่กำลังเรียนรู้เพื่อเป็น นพอ. เราจะต้องมีการปรับสภาพภาวะร่างกาย จิตใจ ให้มีความแข็งแรง แข็งแกร่งและที่ขาดไม่ได้เลยคือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความเป็นทีม  ซึ่งเราจะต้องเรียนรู้ว่า ต่างคนต่างที่มา ต่างคนต่างมีเหตุผลของตนที่มาร่วมอุดมการณ์ในการฝึกเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ ต้องรู้จักปรับตัวเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้กฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจ มีความเสียสละ


เราจะได้รู้จักอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการดำน้ำ เช่น หน้ากาก (Mask) ท่อหายใจ (Snorkel) ตีนกบ (Fin) เป็นต้น  รวมทั้งอุปกรณ์หน้าตาแปลกๆ ที่จะช่วยให้เรากลายเป็นปลาได้ชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็น เรกกูเลเตอร์ ออกโทปุส (รุ่นแก่ๆ เค้าไม่รู้จักหรอกนะ เพราะเค้าใช้สายเดี่ยว) เกจวัดแรงดันอากาศ เกจวัดระดับความลึก สายไฮเพรสเชอร์ โลว์เพรสเชอร์ บีซีดี แทงก์คู่ ฯลฯ รู้จักการควบคุมลมหายใจเมื่อใช้อุปกรณ์ รู้จักการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในน้ำ ใต้น้ำ และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ระบบ Buddy ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติงานใต้น้ำหรืองานอื่นใดที่มีความเสี่ยง สามารถนำเอาไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน


นอกจากนี้แล้ว ยังจะรู้จักถังอากาศ (Air tank) ได้หยิบจับ แบก ยก (อย่าลาก) จนกว่าเราจะพอใจ เพราะเราจะต้องทำความคุ้นเคยกับมัน ให้เกียรติมันเป็นอย่างดีเพราะจะเป็นที่สำหรับเรานำอากาศมาใช้หายใจเวลาอยู่ใต้น้ำ การดูแลรักษาอุปกรณ์เบื้องต้น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น


เมื่อรู้จักกับอุปกรณ์ที่จำเป็น และวิธีการปฏิบัติตนแล้ว ก่อนจะไปลงน้ำเราก็จะต้องรู้จักการประกอบอุปกรณ์ การวางอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ (มันก็แลดูสวยงามและก็ไม่ระเกะระกะกับคนที่ต้องเดินผ่านพื้นที่ทั้งบนบนและในเรือ) ทีนี้เราก็จะได้ลงน้ำกัน โดยในเบื้องต้นจะลงในสระน้ำฝึกการใช้อุปกรณ์ให้คุ้นเคย การปฏิบัติตนกรณีฉุกเฉิน ต่อจากนั้นก็มีการดำน้ำในถังดำน้ำ ความลึก 33 ฟุต หรือ 10 เมตร การฝึกหัดการขึ้นแบบฉุกเฉินหรือเรียกว่า CESA-Controlled Emergency Swimming Ascent ใช้ในกรณีที่อากาศหมด แล้วจำเป็นต้องขึ้นจากน้ำโดยปราศจากเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ แต่ก็ต้องขึ้นไม่ให้เร็วเกินกำหนดความปลอดภัย  จากนั้นก็ไปหาประสบการณ์จริงจากการดำน้ำในทะเล การดำค้นหา การดำในเวลากลางคืนโดยไม่มีแสงไฟ การดำน้ำ 10 เมตร 20 เมตร และ 30 เมตร ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดี และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เราจะต้องไม่ลืม Buddy Check ทุกครั้ง และกฎความปลอดภัยในการดำน้ำ ทำให้เป็นนิสัยเป็นวินัยในตัวเองเพื่อที่จะได้เป็นนักดำน้ำที่ดีและสามารถเป็นตัวอย่างนักดำน้ำที่ดีได้ต่อไป


“พ้นจากเกาะนี้ไป พวกเราคือนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ”

 

หลังจากผ่านการฝึกฝนมาแล้ว ทีนี้เราก็เป็น นพอ. ผู้ซึ่งพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่เฉพาะแต่กิจกรรมการดำน้ำ แต่จิตสำนึกในการอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ณ ที่ใดๆ ก็ตาม เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น เราก็พร้อมสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรม ตามแต่ภารกิจที่ไม่เบียดบังกับเวลาอันเป็นส่วนตัว ทุกๆ คน จะจัดระเบียบชีวิตเพื่อให้สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ และนี่คือความเป็นมาของพวกเรา นพอ.