กว่าจะเป็น นพอ. ThaiDive.Org  

 

กว่าจะเป็น : ปักเป้า นพอ. 13

ถิ่นสร้างคน  นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ รักษ์ธรรมชาติ
(โดย ร้อยโท หญิงสิริกร  ฉัตรภูติ...๑๓๔๓)

 

              ผู้เขียนโปรยหัวว่า “ถิ่นสร้างคน...” นั้นหลายคนอาจสงสัยว่า คือที่ไหน และสร้างอย่างไร   คงต้องกล่าวต่อว่า ถิ่นสร้างคนในความหมายของผู้เขียน ก็คือ โรงเรียนสงครามพิเศษทางเรือ       หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ  หากถามต่อว่า สร้างคนอย่างไร  เพราะโรงเรียนแห่งนี้   ก็สร้างคนมาหลายประเภท  แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โรงเรียนแห่งนี้ ได้สร้างให้ผู้เขียนได้เป็นนักดำน้ำ ไม่ใช่นักดำน้ำเพื่อการรบ เพื่อการสงคราม หรือเพื่อความสนุกสนาน             แต่โรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างคนให้เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติใต้ทะเลตามแนวทางของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  ที่ได้ประสานความร่วมมือให้ หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการฝึกบุคคลพลเรือนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเรียนในหลักสูตรนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ ซึ่งปัจจุบันมีนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ ที่ผ่านการฝึกจากโรงเรียนแห่งนี้มาแล้วจำนวน ๗๐๐ กว่าคน

              โรงเรียนสงครามพิเศษทางเรือ เป็นโรงเรียนที่ฝึกกำลังพลทหาร เพื่อไปปฏิบัติงานในหน้าที่พิเศษ พิทักษ์รักษาผืนแผ่นดินไทย และคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้ก่อการร้ายที่มุ่งหมายทำลายความสงบเรียบร้อยของประเทศ และประชาชน ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ครูก็ต้องมาทำหน้าที่ฝึกพวกเราซึ่งเป็นบุคคลพลเรือนเสียส่วนมากให้มีจิตสำนึกรักแผ่นดิน อนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล ตลอดจนมีระเบียบวินัยเช่นเดียวกับทหาร ในหลักสูตร นักเรียนดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ  (นร.นพอ.) เราถึงได้กล่าวว่า “โรงเรียนแห่งนี้เป็นถิ่นสร้างคน”

              สำหรับการฝึกนักเรียนดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ฯ นั้น ได้มีการฝึกอบรมผ่านมาแล้ว ๑๒ รุ่น   รุ่นของเราเป็นรุ่นที่ ๑๓ โดยใช้เวลาในการฝึกอบรม ๒ สัปดาห์ ในช่วงของการฝึก ๒ สัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เม.ย. – ๕ พ.ค.๕๑) นั้น มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เริ่มต้นวันแรกหลังจากมีพิธีเปิดการฝึกอบรม พบปะพี่ ๆ นพอ.แล้ว ก็จะมีกิจกรรมที่เป็นประเพณีคือ การวิ่งขึ้นเขา (เขาปู่เจ้า) เพื่อสักการะเสด็จเตี่ย และขอพรท่านให้พวกเราได้ปลอดภัยจากการฝึก จากนั้นเราก็เล่นพีทีถวายท่าน จนเหงื่อที่พึ่งหายไปกลับมาอีกหลายหยด จากนั้นก็วิ่งกลับลงมา และขึ้นรถที่รอรับพวกเรากลับเกาะพระ อาบน้ำ  กินข้าว ทำกิจกรรม เรียนในห้องเรียน สวดมนต์ นอน

              สำหรับวันนี้ก็มีการจัดคู่บัดดี้กัน คนที่สนิทคุ้นเคยกันมาแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรสนุกสนานกันไปตามระเบียบ แต่คนที่ยังไม่รู้จักคุ้นเคยกันก็ต้องสร้างความคุ้นเคยต่อกันด้วยการปรับพฤติกรรมเข้าหากัน  ซึ่งการที่ได้ทำกิจกรรมตามประเพณีด้วยการวิ่งขึ้นเขานี้ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดี คือ  ทำให้     พวกเราได้รักกัน ช่วยเหลือกัน และเห็นใจกันและกันมากขึ้น...ทั้งนี้ก็เพราะความเหนื่อยด้วยกันไง...   เลยทำให้เกิดความห่วงใยกัน เอื้ออาทรต่อกัน จูงกัน เข็นกัน และให้กำลังใจกันเพื่อให้ถึง          ที่หมาย...นี่คือ นร.นพอ.

              อ้อ! ลืมไปอย่าง พวกเรามาอยู่ที่สถาบันแห่งนี้ เราก็เหมือนนักเรียนทั่วไป ทุกคนมีสภาพเป็นนักเรียน มีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน จัดเวรทำความสะอาดห้องนอน ห้องเรียน ห้องน้ำ ฯลฯ ตามที่ครูได้มอบหมายต้องถือว่ารุ่นนี้ ช่วยเหลือกันดีมาก ๆ ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองจะเหนื่อยบ้าง    ง่วงบ้างแต่ทุกคนก็ไม่มีใครบ่น คนที่ไม่เคยทำก็สามารถทำได้...รวมถึงต้องเข้าเวรยามเพื่อดูแล           ความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่พักของพวกเราด้วย..และสิ่งที่เราต้องเปลี่ยนคำพูด คือ ที่นี่จะไม่มีคำว่า คะ หรือ ครับ แต่เราจะใช้คำว่า...ฮูย่า แทน แต่ก็บ่อยครั้งที่พวกเราก็ทำให้ปรวน แทนที่จะใช้คำว่า ฮูย่า ก็ คะ บ้าง ครับ บ้าง ...ครูก็ให้อภัย...แต่ถ้าเป็นนักเรียนนักทำลายใต้น้ำ พวกเราก็คงจะโดนซ่อมไปไม่ใช้น้อย...จริงไม๊ฮูย่า..       

              สัปดาห์แรก ๆ  พวกเราถูกปลุกให้ตื่นตอนตี ๕ ครึ่ง ล้างหน้าแต่งตัวด้วยชุดวอร์ม ครูนำวิ่ง นักเรียนร้องเพลง เล่นพีที ประมาณ เจ็ดโมงเช้ารับประทานอาหาร เสร็จแล้วเข้าห้องเรียน เรียนทฤษฎีเกี่ยวกับการหลักเวชศาสตร์ใต้น้ำ อันตรายจากสัตว์ การช่วยชีวิตผู้ตกน้ำ ฯลฯ อีกมากมาย แต่ที่สนุกคือ ของว่างที่พวกเราเตรียมจัดหามา ได้ความรู้ สนุก หลับในห้องเรียน และอิ่มท้องตาม ๆ กันไป

              ช่วงแรก ๆ ของนักเรียนหญิงอาจจะมีปัญหาเรื่องเวลา ที่ตากผ้า ห้องน้ำ แต่ทุกอย่างก็ได้รับการดูแลจากผู้บังคับบัญชาและครูในหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) เป็นอย่างดี จนเข้าที่เข้าทาง พวกเราต้องกราบขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

              สัปดาห์ที่ ๒ พวกเรายังต้องตื่นประมาณตี ๕ ครึ่งเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากวิ่ง เหลือเพียงเล่นพีที เพื่อเป็นการคลายกล้ามเนื้อ จากนั้นก็ลงไปว่ายน้ำในทะเลเพื่อสร้างความคุ้นเคยกัน คนที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับการว่ายน้ำระยะไกล รวมถึงการใช้สน็อคเกิล ก็คงจะเป็น ๑๓๔๓ เพียงคนเดียวที่มีอาการแย่ตั้งแต่วันแรก จนวันสุดท้าย การว่ายน้ำในทะเลด้วยการใช้สน็อคเกิลวันแรกก็มีอาการตะคริวกิน วันที่สองอาการเริ่มแย่มากขึ้นเพราะหายใจไม่เต็มปอด เหนื่อย และก็หมดแรง พี่ ๆ พยาบาลก็ช่วยกันดูแล พอวันที่ ๓ ที่สระก็มีอาการหนักขึ้นจนต้องหยุด เย็นวันนั้นเรียกว่าทำเอาทุกคนเป็นห่วง ๑๓๔๓ ตาม ๆ กัน น่าซาบซึ้งมากเลยนะนี่...มีน้องๆ เป็นห่วง สุดท้ายกลางดึกของคืนนั้น ทำเอาน้อง ๆ ผู้นอนอยู่ด้วยกันทั้งหมดต้องถูกปลุกกลางดึก เพราะพี่ ๑๓๔๓ มีอาการหายใจติดขัด และไอตลอดจนต้องตามพี่พยาบาลมาช่วยดู และต้องนำตัวลงมานอนที่ห้องพยาบาลเพื่อให้ออกซิเจนช่วย จึงทำให้อาการทุเลาลง เช้าจึงนำตัวไปโรงพยาบาล แต่เมื่อตรวจอาการแล้ว        มีเพียงอาการหลอดลมอักเสบเท่านั้น...รอดตายแล้ว ขอบคุณพี่รินและพี่แมว พยาบาลใจดีแห่งเกาะพระ เมื่อกลับจากโรงพยาบาล ก็ไปนั่งเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่ขอบสระ ดูเขาฝึกกัน จนตัวเองอดทนรนไม่ไหวแอบขออุปกรณ์ครูลองดำน้ำดู โดยมีครูเจษ (เรือเอกเจษฎา  เหลืองวงษ์) ช่วยดูแล สุดท้ายเลยโดนน้อง ๆ เอ็ดเอายกใหญ่เลยว่า “ทำไมพี่เอดื้อจัง ไม่สบายยังลงไปดำน้ำอีก...”        เล่นเอาพี่ใหญ่อย่างเราอายไปเลยนะนี่  เริ่มจะกลัวน้อง ๆ แล้วซิ...เพราะแต่ละคนทั้งน่ารัก และก็ทั้งดุเอาการ

              อ้อลืมเล่าให้ฟังว่า ก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อนั้น พวกเราจะต้องมีการดึงข้อ (ชาย) หรือ โหนบาร์ (ผู้หญิง) เพื่อแลกข้าวกันทุกมื้อ เสร็จแล้วก็วิ่งพร้อมกับร้องว่า “ฮูย่า..............” ก่อนเข้า       โรงอาหาร ถ้าไปถึงโต๊ะอาหารแล้ว หัวหน้านักเรียนจะสั่ง “ยกเก้าอี้” ถ้ายกเก้าอี้เสียงดัง พวกเราก็ถูกสั่งทำโทษ ให้เก็บเก้าอี้ แล้วออกไปรวมแถวข้างนอกใหม่ หรือไม่ก็ถูกสั่งให้มุดใต้โต๊ะ กินข้าวใต้โต๊ะอะไรทำนองนี้ แล้วแต่ครูที่เข้าเวรดูแลพวกเราท่านจะสั่ง แต่พวกเราก็ทำได้หมด มีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูบุญสืบ เข้าเวร ท่านก็มีอะไรใหม่ ๆ ให้เราได้สัมผัส ซึ่งใครถ้ายังไม่เคยกินไข่ต้มทั้งเปลือก ก็จะได้ทดลองที่นี่อย่างแน่นอน รสชาติอย่าบอกใคร บางคนก็โดนเปลือกไข่ตำปาก แต่ครูบอกพวกเราว่า “เพิ่มแคลเซียมให้กับร่างกายไง” (ครูขา!!! วัยของพวกเรายังไม่ขาดแคลเซียมหรอกคะ เพราะพึ่งอายุ ๑๘ เอง) สุดท้ายด้วยความน่ารักของครูบุญสืบ พวกเราก็เอาท่านไปล้อ เป็นมุขตลก โดยเปลี่ยนชื่อให้ท่านว่า “บุญแสบ” จบแล้วพวกเราก็ยังล้อท่านเช่นนี้...บางครั้งพวกเรากลัวท่านจะโกรธ แต่ท่านไม่เคยโกรธ..ครูใจดีไหมละ (อันที่จริงพวกเรานะแสบกว่าครูอีก)

              กิจกรรมในโต๊ะอาหารนอกจากที่เล่าแล้ว ก็ยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ อีก เช่น การขัดฉาก      ตบฉาก การจัดวางจาน ช้อน ส้อม และแก้วน้ำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามที่ครูได้กำหนดไว้ ส่วนครูจ้อน (ครูณัฐวัสส์  ศิริเขตต์)ก็จะมีแบบฉบับคือ ถ้าพวกเราไม่มีใครดูแลโต๊ะอาหารให้ ก็จะถูกต่อว่า     “ไม่มีใครสนใจครูเลย...พอพวกเราวิ่งเข้าไปจัดโต๊ะอาหารของครู (จริง ๆ เจ้าหน้าที่โรงอาหารเขาจัดไว้แล้วละเพียงแต่เปิดฝาชี รินน้ำ ตักข้าวให้ครูเท่านั้นแหละ) ครูจ้อน ก็จะบอกว่า “มันสายไปเสียแล้วละนักเรียน”(แหม!!..เอาใจยากจังนะครู) หรือไม่งั้นก็แกล้งสั่งลงโทษพวกเราซะงั้น หรือไม่ถ้าครูผิดนักเรียนก็ต้องโดนลงโทษแทนครูสบายไป (แบบนี้พวกเราก็เล่นได้คะครู..แต่ก็สนุกสนานกันไป เพราะจริง ๆ ครูต้องการให้พวกเราบริหารกล้ามเนื้อขา ท้องให้มีพละกำลังที่แข็งแรงนั่นเอง จริงม๊ะครู) ส่วนครูท่านอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยมีอะไรแปลก ๆ เพราะทุกท่านน่ารักและก็ใจดีกับพวกเราหมดเลย แต่มีอยู่ครั้ง     ครูก้องมาเยี่ยมพวกเรา กลัวพวกเราจะเบื่อโรงอาหาร ก็เลยเปลี่ยนบรรยากาศการรับประทานอาหารเย็นของพวกเราจากในโรงอาหารมารับประทานบริเวณริมเขื่อนด้านหน้าเกาะซะงั้น     ทำให้ได้รับบรรยากาศลมทะเลที่แสนจะสดชื่น มีเพื่อนร้องเพลง “ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แปลกใจเสียจริงปลาไม่กินเหยื่อ” ให้พวกเราฟัง ฟังไปฟังมารู้สึกเทปมันจะเริ่มยาน “เพราะคนร้องคงหิวข้าวแล้ว หรือเห็นพวกเรากินกันอย่างเพลิดเพลินจนน้ำลายไหลก็ไม่รู้ เลยทำให้เทปยาน” (ขอบคุณครูก้องที่สร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ให้กับพวกเรา)

              หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ หัวหน้านักเรียนจะสั่งลุก และเก็บเก้าอี้ จากนั้นให้ออกไปรวมแถวหน้าโรงอาหาร เตรียมปฏิญาณว่า “เราจะนำอาหารมื้อนี้ ไปต่อสู้เพื่อให้เป็น นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์” (๓ ครั้ง) จากนั้นถึงจะแยกย้ายไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป (คำปฏิญาณนี้ มันทำให้เราได้หวนกลับมาคิดว่า “เรากินอาหารเพื่ออะไร ได้มากขึ้นนะ ซึ่งแต่ก่อนเรากินเพราะอยากจะกิน แต่อยู่ที่นี่เราต้องกินเพื่อให้มีแรงต่อสู้ต่อไปไง”

              การฝึกดำน้ำของพวกเราเริ่มเข้มขึ้น จากฝึกดำน้ำในสระตื้น ความลึกประมาณเมตรครึ่ง เพื่อสร้างความคุ้นเคย ฝึกการแต่งกาย ถอดอุปกรณ์ บัดดี้บีดดิ้งในสระ  จากนั้นก็เริ่มเข้าสู่หอดำที่ความลึก ๑๐ เมตร ฝึกฟรีเอสเซ้นต์ (เป็นการฝึกเพื่อแก้ปัญหาเมื่ออากาศหมดแล้วต้องขึ้นสู่ผิวน้ำในระยะความลึก ๑๕ ฟุต) แรก ๆ พวกเราก็กังวลและตื่นเต้นกันน่าดู สุดท้ายเมื่อพวกเราทำได้กันหมด พอทำได้ก็คุยกันเสียงดังขรมไปหมด มีอยู่คู่หนึ่งที่ต้องทำบัดดี้บีดดิ้งกับครูเมธี พอเธอทำเสร็จก็ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ แต่เธอเล่นเอาฟินไปเตะปากครูเมธี ทำให้ฝาครอบเมาท์พรีสหลุด ครูเลยต้องกินน้ำไปหลายอึกกว่าจะซ่อมเมาท์พรีสให้อยู่ในสภาพเดิมได้ เธอผู้นั้นคือ ๑๓๔๘ (ครูจำได้นะน้อง ดีนะว่าครูเป็นมนุษย์กบ      ไม่งั้นคงแย่แน่ ๆ)

              จากดำในหอดำเสร็จ เราก็เริ่มเรียนรู้ขั้นตอนการดำน้ำในทะเลบริเวณเกาะพระ   ระดับความลึก ๓๐ ฟุต ดำน้ำสำรวจสิ่งของ ดำน้ำในเวลากลางคืน (สวยมาก พวกเราสนุกกับการเล่นพรายน้ำ ถ้าใครอยากรู้ว่าพรายน้ำในเวลากลางคืนเป็นอย่างไร ก็ต้องมาเรียนหลักสูตรนี้) ดำน้ำในระยะ ๖๐ ฟุต และสุดท้ายคือดำน้ำในระยะ ๙๐ ฟุต (บริเวณเรือสุทธาทิพย์จม) ระยะ ๙๐ ฟุตนี้ เป็นระยะที่พวกเราตื่นเต้นกันที่สุด     ได้นั่งเรือหลวงตะลิบงออกไปจากเกาะพระระยะไกล ๆ และถือเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนจบหลักสูตรหรือการศึกษาของพวกเรา สำหรับบรรยากาศใต้ทะเลวันสุดท้ายนี้ค่อนข้างหนักเอาการเพราะกระแสน้ำแรง ประกอบกับทะเลมีคลื่นลม ครูที่ดูแลพวกเราก็ต้องเครียดเพราะความห่วงกังวลถึงความปลอดภัยนักเรียนทุกคนในชุด ซึ่งในภารกิจสุดท้ายพวกเราก็ผ่านมาได้มีเรื่องตื่นเต้นบ้าง เพราะบางคนอากาศหมด แต่ทุกคนก็ปลอดภัย พวกเราตั้งใจไว้ว่า “สักวันหนึ่งพวกฉัน จะกลับมาเยี่ยมเธออีก “สุทธาทิพย์””

              หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ขณะเดินทางกลับพวกเราก็มีการแอบซื้อเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ขนม มาฉลองกันในเรือ (ครูดาวเกียน ท่านเป็นผู้วางแผนเซอร์ไพร์ ฉลองความสำเร็จของ  พวกเรา แหม!! ครูช่างลึกซึ้งจริง ๆ นะคะ พวกเราเลยอิ่มกันไป มีร้องรำทำเพลงบ้างนิดหน่อย แต่ที่น่าห่วงคือ มีเพื่อน ๆ บางคนมีอาการเมาเรือ เลยอาจจะไม่สนุกกับเราด้วย...แต่พอขึ้นจากเรือไอ้อาการเมาเรือของเพื่อน ๆ ก็หายไปจริงไหมจ๊ะ ๑๓๔๖...๑๓๔๘

              คืนสุดท้ายก่อนปิดการศึกษา พวกเราก็รวมหัวกัน จัดงานเลี้ยงปาร์ตี้กันนิดหน่อย โดยเชิญครู และผู้บังคับบัญชามาร่วมงานกับพวกเราด้วย ซึ่งทุกท่านก็ได้ให้เกียรติร่วมสนุกกับพวกเรา ขอบคุณมากคะ  พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจที่ครูและผู้บังคับบัญชาหลาย ๆ ท่านให้เกียรติกับพวกเรา โดยเฉพาะท่านรอง ผบ.นสร. และ เสธ.นสร. ท่านก็ได้ร่วมร้องเพลงให้เราฟังด้วยคะ แต่คืนนี้พวกเราสนุกกันมากไปหน่อยเลยโดนทำโทษให้นอนเรียงลำดับตามหมายเลขกันที่สะพานเกาะพระ...แต่เหมือนไม่โดนทำโทษเลย เพราะบรรยากาศ ลมเย็นๆ ยุงไม่มี พวกเราเลยหลับสบายไป พร้อมกับตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่นอย่างที่ไม่เคยรู้สึกเช่นนี้มาก่อน...แต่พวกเราก็สร้างความลำบากให้ครูไพรัตน์         ท่านต้องอดนอน เฝ้ายามดูแลไม่ให้พวกเราเป็นอันตรายไป ทั้ง ๆ ที่มีการจัดเวรยามจาก      พวกเราแล้วก็ตาม...  ครูขา..พวกเราขอโทษ ต่อไปนี้เราจะเป็นเด็กดีคะ/ครับ

              ถึงวันที่เราต้องอำลาจากเกาะพระไป...เมื่อเสร็จสิ้นพิธีมอบเกียรติบัตรและภารกิจอื่น ๆ แล้ว พวกเราต้องจากไปจากเกาะพระทั้งที่พวกเรายังไม่อยากกลับไปเลย สิ่งที่พวกเรารู้สึกและอยากจะร้องไห้ออกมา คือเราต้องจากเพื่อน ๆ ครู ๆ และสถานที่ที่เรานอนมาเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ เมื่อพวกเราเข้าแถว ผู้นำ (ประธานรุ่น) ได้กล่าวนำว่า “เมื่อพ้นจากเกาะนี้ไป พวกท่านคือ นักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์” (๓ ครั้ง) พวกเราเหมือนมีอะไรมาจุกอยู่ที่คอ...อยากร้องไห้...และให้ความรู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์...พวกเราถูกฝึก..มาเพื่อการนี้นะ...จงรักและห่วงแหนทรัพย์ของแผ่นดิน..ผืนน้ำใต้ท้องทะเลไทยให้ดำรงอยู่ต่อไปนะเพื่อนพ้อง นพอ.

              ก่อนจบต้องขอบอกว่า นพอ.๑๓ นี้มีดาวเด่นในรุ่นอยู่หลายดวงอาทิเช่น ๑๓๐๑ ๑๓๐๒ ๑๓๐๘ ๑๓๑๕ ๑๓๑๖ ๑๓๒๔ ๑๓๔๔ ๑๓๔๕ ๑๓๔๖ ๑๓๔๗ ๑๓๔๘ ๑๓๔๙ ๑๓๕๐ ๑๓๕๑ ๑๓๕๒ ๑๓๕๓ ๑๓๕๕  เป็นต้น (คนที่ไม่ได้เอ่ยถึงอย่าน้อยใจนะคะ จริง ๆ แล้วทุกคนเป็นดาวเด่นในรุ่นอย่างแน่นอนอยู่แล้วฮูย่า) ซึ่งในรุ่นเรามีทั้งหมด ๕๕ ชีวิต และเป็น ๕๕ ชีวิตที่ต้องจดจำกันไปอีกนาน รวมทั้งคุณครูก็มีท่านอื่น ๆ ที่หลายท่านซึ่งบางท่านอาจไม่ได้นำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ แต่พวกเราทุกคนก็ระลึกถึงครูเสมอ เช่น ครูประดับชาติ ที่ต้องทำงานหนักในทริปสุดท้ายเนื่องจากนักเรียนอากาศหมดถึง ๒ คน เราเข้าใจความรู้สึกของครูที่ทั้งห่วงกังวลกับพวกเรามากน้อยเพียงใด...สวัสดีคะครู...เราขอบอกว่า ครูของเราทุกคนเยี่ยมมาก ฮูย่า...เกาะพระเป็นดินแดนที่น่าพิศวง...ที่ดึงดูดพวกเราให้อยากเป็นอย่างครู..ผู้เป็นวีรบุรุษสุดยอด...ฮูย่า ซึ่งเรา นพอ.๑๓ ขอฝากคำกลอนจากใจของพวกเราที่ช่วยกันแต่งเพื่อครูมา ณ โอกาสนี้ด้วยฮูย่า

 

รวมบทกลอน.....แด่ครู

       

 

ถึงวันนี้ วันที่เรา ผ่านการฝึก เมื่อหวนนึก กลับไป ให้ใจหาย  

                  

สิบสองวัน ผ่านการฝึก ทั้งใจกาย ครูมุ่งหมาย สร้างนักดำ ที่ชำนาญ  

                   

ครูทุกท่าน ตั้งใจ ให้ความรู้       ให้เป็นผู้ มีใจ ใฝ่อุดมการณ์  

 

ในวันนี้ ขอฝากชื่อ ให้เล่าขาน เป็นตำนาน นักอนุรักษ์ ทะเลไทย  

                     

ขอขอบคุณ คุณครู ที่พร่ำสอน ใจอาวรณ์ ต้องเหินห่าง จากกันไกล  
  ไม่ว่าอยู่ แห่งหน ตำบลใด หฤทัย คิดถึงกัน ตลอดกาล  
       

 

…กราบขอบพระคุณคุณครูทุกท่าน ที่มอบวิญญาณแห่งการอนุรักษ์  
  สร้างจิตสำนึกให้เราพึงตระหนัก ให้เรารักให้เราหวงท้องทะเลไทย...  
  ...ฟิตทั้งร่างกายฝึกทั้งจิตใจ เราแกร่งกว่าเดิมขึ้นเป็นไหนไหน  
            แม้จะร้อนจะเหนื่อยล้าเพียงใด แต่เราก็รู้ได้ว่าครูหวังดี...  
                          ...ความปลอดภัยคือหัวใจของการฝึก ห่วงลึกๆอยู่ร่ำไปไม่หน่ายหนี  
  ภาวนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตมี ช่วยคุ้มครองทุกชีวีให้ปลอดภัย…  
       
 

 

คิดถึงสิ่งเก่าๆที่เราได้ร่วมฟันฟ่ามาด้วยกัน
คิดถึงความมันส์ที่เราได้ร่วมกันลิ่มรส
คิดถึงความทรหดที่เราร่วมเล่าขาน
คิดถึงคอสะพานที่เราได้ร่วมหลับนอน
คิดถึงขวดหลายปอนด์ที่เราร่วมกันถีบ
 คิดถึงขนมปี้บที่เราร่วมกันกินเหลือ(ทิ้ง)

 
 

 

Hooya ครูฝึก
ครูผู้เจียรไนหินกลายให้เป็นเพชร
จนสำเร็จเป็น นพอ.13 หนา
ครูพรากเพียร 10 ยก อยู่ทุกครา
เพื่อหวังให้ศิษย์ประพฤติตนเป็นคนดี