หน้าแรก | กระดานข่าว | บ้านปะการัง | ห้องภาพ | ทำเนียบรุ่น | ห้องสนทนา | งานอนุรักษ์ฯ | ปฏิทิน | FAQ |

พบฟองน้ำทะเลชนิดใหม่
Thursday, April 28, 2005, 05:52 PM - ประเทศไทย

จากการที่นายสุเมตต์ ปุจฉาการ นักวิทยาศาสตร์ สังกัดฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพฟองน้ำทะเลจากอ่าวไทย โดยได้ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างฟองน้ำทะเลทั่วอ่าวไทยจากระบบนิเวศต่าง ๆ เช่น หาดหิน หาดทราย แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง ตั้งแต่ปี 2543 – 2545

รูปจาก www.pantown.com
ผลการศึกษาพบว่ามีฟองน้ำมากกว่า 90 ชนิด และหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นฟองน้ำชนิดใหม่ของโลก โดยได้ส่งตัวอย่างฟองน้ำที่พบในครั้งนี้ไปเทียบ และดำเนินการขอตั้งชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ชื่อว่า “ฟองน้ำบูรพา” Cladocroce burapha Putchakarn , Sonchaeng,de Weerdt & van Soest,2004 ซึ่งการตั้งชื่อในครั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยบูรพาที่ให้การสนับสนุนการศึกษา การค้นพบครั้งนี้ได้ลงตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติชื่อ “Beaufortia” ปีที่ 59 ฉบับที่ 9 วันที่ 15 ธันวาคม 2547

สำหรับ “ฟองน้ำบูรพา Cladocroce burapha Putchakarn , Sonchaeng,de Weerdt & van Soest,2004” เป็นฟองน้ำทะเลชนิดใหม่ ที่พบได้ ตั้งแต่เขตน้ำขึ้นลง จนถึงนอกชายฝั่งทะเลลักษณะรูปทรง เป็นท่อยกตัวสูง ท่อน้ำออกอยู่ตรงปลายท่อ สีลำตัวเป็นสีขาวอมชมพู พบครั้งแรกเกาะอยู่บนก้อนหิน ที่บริเวณชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ฟองน้ำชนิดอื่น ๆ ในสกุลนี้ ส่วนมากแล้วเป็นฟองน้ำที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก และจัดเป็นฟองน้ำที่หายากชนิดหนึ่งของโลก

สำเนาจาก :: bims.buu.ac.th :: บทความต้นฉบับ


หมึกสาย “พันธุ์อันตราย”
Monday, April 11, 2005, 07:07 PM - ประเทศไทย

ลักษณะ : มีความยาวของลำตัว 1.5-6 เซนติเมตร ลำตัวกลม ผิวหนังขรุขระ ด้านท้ายแหลม มีหนวด 8 เส้นซึ่งมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มักจะม้วนปลายอยู่เสมอ สีของลำตัวมักจะเป็นสีเทา หรือสีน้ำตาลอ่อน ไปจนถึงน้ำตาลออกทอง ที่เด่นชัดจนเป็นที่สังเกต คือมีจุดสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เป็นรูปวงแหวนหรือเป็นแถบยาวบนหนวด ลำตัวและหัว

แหล่งที่พบเป็นเขตน้ำตื้นชายฝั่ง ตามแนวปะการังหรือกองหินที่เป็นพื้นทราย โดยมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหิน และจะพรางตัวให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่มันพำนักอาศัย ส่วนใหญ่อยู่ในชายฝั่งเขตร้อน ตั้งแต่ประเทศออสเตรเลีย, อินโดนีเซียจนถึงประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีพบเพียง "หมึกสายลายวงแหวนสีฟ้าขนาดเล็ก" เพียงชนิดเดียว

ความเป็นพิษของมันอยู่ที่ต่อมน้ำลาย หลังจากที่กัดเหยื่อ พิษจะวิ่งเข้าทางบาดแผล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท การหายใจ มีอาการคล้ายเป็นอัมพาตหายใจไม่สะดวก อาจ ขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที "จะถึงแก่ความตายได้" ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

พิษของเจ้า หมึกสายลายวงแหวนสีฟ้า ประกอบด้วย โปรตีนหลายชนิด เช่น เซฟาโลท็อกซิน และเทโทรโดท็อกซิน ซึ่งเกิดจากกลั่นของต่อมน้ำลายที่ปากของมันและแบคทีเรียในกลุ่ม Bacillus และกลุ่ม Paeudomonas ทั้งยังสามารถถ่ายทอดแบคทีเรียที่สร้างพิษให้กับลูกของมันผ่านทางไข่ได้อีกด้วย

การปฐมพยาบาล...หากถูกกัดให้บีบบริเวณบาดแผล เพื่อเค้นให้พิษและเลือดออก (ห้ามใช้ ปากดูดพิษ) จากนั้นให้ รีบนำส่งแพทย์ภายในเวลา 2 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง ไม่ควรบริโภคหมึกสายลายวงแหวนสีฟ้า เพราะกระบวนการประกอบอาหารสามารถทำให้ต่อมพิษแตก และพิษก็ไม่สลายไปกับความร้อนแต่อย่างใด...

ผู้สนใจสัตว์ทะเลที่มีพิษหลากหลายชนิด สามารถไปยลโฉมกันได้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่ที่ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง
สอบถามเส้นทางที่ 0-3865-3741, 0-3865-3672 ในเวลาราชการ

สำเนาจาก :: http://www.thairath.co.th :: บทความต้นฉบับ