หน้าแรก | กระดานข่าว | บ้านปะการัง | ห้องภาพ | ทำเนียบรุ่น | ห้องสนทนา | งานอนุรักษ์ฯ | ปฏิทิน | FAQ |

หมึกสาย “พันธุ์อันตราย”
Monday, April 11, 2005, 07:07 PM - ประเทศไทย

ลักษณะ : มีความยาวของลำตัว 1.5-6 เซนติเมตร ลำตัวกลม ผิวหนังขรุขระ ด้านท้ายแหลม มีหนวด 8 เส้นซึ่งมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มักจะม้วนปลายอยู่เสมอ สีของลำตัวมักจะเป็นสีเทา หรือสีน้ำตาลอ่อน ไปจนถึงน้ำตาลออกทอง ที่เด่นชัดจนเป็นที่สังเกต คือมีจุดสีน้ำเงินหรือสีฟ้า เป็นรูปวงแหวนหรือเป็นแถบยาวบนหนวด ลำตัวและหัว

แหล่งที่พบเป็นเขตน้ำตื้นชายฝั่ง ตามแนวปะการังหรือกองหินที่เป็นพื้นทราย โดยมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหิน และจะพรางตัวให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่มันพำนักอาศัย ส่วนใหญ่อยู่ในชายฝั่งเขตร้อน ตั้งแต่ประเทศออสเตรเลีย, อินโดนีเซียจนถึงประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีพบเพียง "หมึกสายลายวงแหวนสีฟ้าขนาดเล็ก" เพียงชนิดเดียว

ความเป็นพิษของมันอยู่ที่ต่อมน้ำลาย หลังจากที่กัดเหยื่อ พิษจะวิ่งเข้าทางบาดแผล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท การหายใจ มีอาการคล้ายเป็นอัมพาตหายใจไม่สะดวก อาจ ขาดออกซิเจนอย่างเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที "จะถึงแก่ความตายได้" ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

พิษของเจ้า หมึกสายลายวงแหวนสีฟ้า ประกอบด้วย โปรตีนหลายชนิด เช่น เซฟาโลท็อกซิน และเทโทรโดท็อกซิน ซึ่งเกิดจากกลั่นของต่อมน้ำลายที่ปากของมันและแบคทีเรียในกลุ่ม Bacillus และกลุ่ม Paeudomonas ทั้งยังสามารถถ่ายทอดแบคทีเรียที่สร้างพิษให้กับลูกของมันผ่านทางไข่ได้อีกด้วย

การปฐมพยาบาล...หากถูกกัดให้บีบบริเวณบาดแผล เพื่อเค้นให้พิษและเลือดออก (ห้ามใช้ ปากดูดพิษ) จากนั้นให้ รีบนำส่งแพทย์ภายในเวลา 2 ชั่วโมง

ข้อควรระวัง ไม่ควรบริโภคหมึกสายลายวงแหวนสีฟ้า เพราะกระบวนการประกอบอาหารสามารถทำให้ต่อมพิษแตก และพิษก็ไม่สลายไปกับความร้อนแต่อย่างใด...

ผู้สนใจสัตว์ทะเลที่มีพิษหลากหลายชนิด สามารถไปยลโฉมกันได้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ตั้งอยู่ที่ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง
สอบถามเส้นทางที่ 0-3865-3741, 0-3865-3672 ในเวลาราชการ

สำเนาจาก :: http://www.thairath.co.th :: บทความต้นฉบับ



ย้อนกลับ